Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รู้จักกับสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจำเป็นต้องมีหรือไม่

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การซื้อหรือขายห้องชุด หรือคอนโดมิเนียม ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ระมัดระวัง โดยเราต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ประกอบด้วยว่ามีอะไรบ้าง เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อขาย ค่าโอนกรรมสิทธิ์ หากซื้อคอนโดมือสองจะต้องเพิ่มรายละเอียด เรื่องสภาพห้องเข้าไปด้วยว่าเป็นอย่างไร ขายพร้อมเฟอร์นิเจอร์ด้วยหรือไม่ หรือหากเป็นคอนโดใหม่ที่มีการลดราคา ก็ต้องดูว่ามีของแถม หรือมีโปรโมชั่นอะไรให้บ้างหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ จะต้องมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด หรือสัญญาซื้อขาย ที่ควรร่างให้มีเนื้อหาครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ซื้อและผู้ขาย

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด หรือสัญญาซื้อขายห้องชุด คืออะไร

ข้อแตกต่างที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่แตกต่างกันเลย ระหว่างสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขาย ก็คือหากยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน จะเรียกว่าสัญญาจะซื้อจะขาย โดยนิยามคู่สัญญาก็จะเป็น ผู้จะซื้อ และผู้จะขาย และจะเปลี่ยนเป็นสัญญาซื้อขายหลังจากที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ และจัดทำสัญญาตามขั้นตอนของสำนักงานที่ดินเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นสัญญาซื้อขาย และนิยามของคู่สัญญาก็จะเปลี่ยนเป็น ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยสาระสำคัญในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดนั้น มีรายละเอียดที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อคอนโดใหม่หรือซื้อคอนโดมือสอง คือ

1. รายละเอียดเกี่ยวกับคอนโดและคู่สัญญา

ต้องระบุข้อมูลคอนโดโดยละเอียด ทั้งขนาดพื้นที่ โฉนด และหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือที่เรียกอีกอย่างว่า อช. 2 พร้อมทั้งแนบสำเนาโฉนด หรือ อช.2 ไปพร้อมกับสัญญาจะซื้อจะขายด้วย สำหรับข้อมูลของคู่สัญญาก็ต้องระบุรายละเอียดของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เช่น
- บุคคลธรรมดา ให้ระบุชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
- นิติบุคคล ให้ระบุเลขทะเบียนนิติบุคคล และที่ตั้งกิจการที่สามารถติดต่อได้

ในกรณีที่ผู้จะซื้อหรือผู้จะขายไม่สามารถไปโอนกรรมสิทธิ์ได้ด้วยตนเอง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จำเป็นต้องมีตัวแทนไปรับมอบโอนกรรมสิทธิ์ จะต้องแจ้งล่วงหน้าระหว่างกัน เป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 15 วัน พร้อมจัดเตรียมหนังสือมอบอำนาจ และเอกสารประกอบให้ครบถ้วน สำหรับมอบให้ตัวแทนทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ สำหรับในกรณีที่เป็นนิติบุคคล ก็จะเป็นการส่งตัวแทนดำเนินการอยู่แล้ว

 รายละเอียด

2. การชำระเงินและค่าใช้จ่าย

จะต้องระบุทุกค่าใช้จ่ายลงไปในสัญญาจะซื้อจะขายด้วย ตั้งแต่ราคาที่ตั้งขาย ราคาเต็ม ค่าจอง ค่าทำสัญญา กรณีมีเงินดาวน์ก็ให้ระบุไปด้วย แต่ไม่ต้องระบุค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือลงไป อย่างค่าส่วนกลาง หรือเงินเก็บเพิ่มเติมเป็นกองทุนโครงการ ตัวอย่าง เช่น
หากเราซื้อคอนโดราคา 5,000,000 บาท เงินจอง 50,000 บาท ค่าทำสัญญา 50,000 บาท เงินดาวน์ 10% คือ 500,000 บาท ก็นำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักออกจาก 5 ล้านบาท ก็จะคงเหลือส่วนต่างที่จะต้องชำระในวันโอน และเป็นจำนวนเงินที่จะต้องระบุในสัญญา คือ 5,000,000 - 50,000 - 500,000 บาท จะคงเหลือราคาในวันโอนคือ 4,450,000 บาท

ทั้งนี้ ต้องระบุค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ 2% โดยคิดจากราคาเต็ม ค่าบำรุงส่วนกลาง หรือเงินกองทุนส่วนกลางคอนโด (ถ้ามี) ลงไปในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด รวมทั้งระบุให้ชัดเจนว่าผู้จะซื้อหรือผู้จะขาย เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ยกเว้นกรณีผู้จะซื้อกู้สินเชื่อจากธนาคาร ไม่จำเป็นต้องระบุในสัญญาจะซื้อจะขาย

ค่าใช้จ่าย

3. เงื่อนไขในการซื้อขาย

หากซื้อขายห้องชุดที่โครงการเปิดขายเป็นรอบพิเศษ ซึ่งยังต้องรอการอนุมัติ EIA หรือ Environmental Impact Assessment Report โดยโครงการนั้น ๆ ยังรอการตรวจสอบเรื่องผลกระทบกับชีวิต และสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บริเวณโครงการ ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่า มีการระบุในสัญญาจะซื้อจะขายด้วยหรือไม่ ในเรื่องของการรับผิดชอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการ รูปแบบและขนาดห้อง คุณภาพวัสดุ ซึ่งข้อมูลนี้จะส่งผลต่อเรื่องการผิดสัญญาได้ และยังต้องตรวจสอบของแถมต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขนาด จำนวน กำหนดส่งมอบตอนไหน การติดตั้งเป็นอย่างไร ซึ่งควรจัดทำเป็นรายละเอียดแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายไว้ด้วย หรือหากเป็นการซื้อขายคอนโดมือสอง ก็ให้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ลงไปด้วย เช่น สภาพปัจจุบันของห้องเป็นอย่างไร มีการตกแต่งก่อนส่งมอบหรือไม่ ใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนั้น ๆ หรือมีทรัพย์สิน หรือเฟอร์นิเจอร์ใด ๆ ที่มาพร้อมการขายห้องด้วยหรือไม่

 เงื่อนไขในการซื้อขาย

4. การรักษาสิทธิ์ และการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายคอนโด

จะเกิดขึ้นได้จากกรณีที่ผู้จะซื้อกู้สินเชื่อไม่ผ่าน หรือไม่สามารถทำการโอนกรรมสิทธิ์จากสำนักงานที่ดินได้ ทำให้อยากขอยกเลิกสัญญา และต้องการขอเงินคืน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายด้วย
กรณีของฝ่ายผู้จะซื้อ เช่น ในสัญญาได้ระบุไว้ว่า หากผู้จะซื้อได้รับหนังสือปฏิเสธการให้สินเชื่อจากธนาคาร จำนวนกี่แห่ง หรืออื่น ๆ ตามที่ได้ระบุไว้ ฯลฯ

กรณีของผู้จะขายผิด เช่น กรณีโครงการไม่ผ่านการตรวจ EIA รูปแบบห้องไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ มีการลดคุณภาพของวัสดุก่อสร้าง ไม่ตรงตามที่ระบุกันไว้ ฯลฯ

ในกรณีแบบนี้ส่วนใหญ่แล้ว หากผู้จะซื้อผิดสัญญา โดยเกิดเปลี่ยนใจจะไม่ซื้อ โดยไม่มีเงื่อนไขในสัญญาประกอบ ผู้จะขายหรือโครงการจะไม่คืนเงิน

การรักษาสิทธิ์

5. ขั้นตอนการโอนกรรมสิทธิ์

เป็นการตกลงระหว่างผู้จะซื้อและผู้จะขาย ในการลงนามร่วมกัน ในการยินยอมและเห็นพ้องต้องกันในเรื่องกำหนดการ วันที่ ที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดิน เช่น ทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 และโอนกรรมสิทธิ์ไม่เกิน 30 วัน คือภายในวันที่ 16 กันยายน 2563 ในกรณีที่ผู้จะซื้อเป็นชาวต่างชาติ ให้จัดทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพิ่มอีก 1 ภาษาด้วย นอกจากนั้น ผู้จะซื้อและผู้จะขายควรจะต้องเซ็นกำกับ ในสัญญาจะซื้อจะขายทุกหน้า และหากในกรณีที่ซื้อขายผ่านนายหน้า ก็ให้นายหน้าเซ็นกำกับไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นข้อตกลงในสัญญาของผู้จะซื้อจะขาย และพยาน

การโอนกรรมสิทธิ์

6. เอกสารสำคัญที่ต้องใช้แนบท้ายสัญญา

จะเป็นรายละเอียดที่ไม่สามารถระบุลงในสัญญาจะซื้อจะขายได้ครบถ้วน เช่น สำเนาบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง หรือสำเนาจดทะเบียนนิติบุคคล สำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อช.2) หรือโฉนด สำเนาใบเสร็จรับเงินการชำระเงินจอง เงินดาวน์ รายการสิ่งของต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่จะขายพร้อมคอนโด

เอกสารใช้แนบท้ายสัญญา

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด หรือคอนโดมิเนียมนั้น จัดทำขึ้นเพื่อแสดงเจตนา ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย ในการซื้อขายห้องชุดอย่างถูกต้อง รายละเอียดต่าง ๆ ที่ควรระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เป็นธรรม และกลายเป็นกรณีพิพาทในภายหลังได้นั่นเอง

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร