Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รัฐเร่งแผนลงทุน ผุดคอมเพล็กซ์บางซื่อหมื่นล้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เข้าสู่ปีงบประมาณ 2562 ได้ไม่ถึงเดือน หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ ต่างเดินหน้าแผนลงทุนโครงการต่างๆ ที่อยู่ในมือ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะยกระดับประเทศไทยไปอีกขั้น 

ก่อนหน้านี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประกาศอย่างเสียงดังฟังชัดว่า ก่อนเลือกตั้งต้องการให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมให้เสร็จ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมก็มีแผนที่จะเร่งผลักดันโครงการต่างๆ ของหน่วยงานในสังกัดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายใน 4-5 เดือน รวม  20 โครงการ ใช้วงเงินลงทุนอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาท อาทิเช่น 

ในเดือนต.ค.จะเสนอ 5 โครงการ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 มูลค่า 84,361 ล้านบาท ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน 10,588 ล้านบาท มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 77,831 ล้านบาท ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม 1,132 ล้านบาท และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า เชียงของ จ.เชียงราย มูลค่า 1,406 ล้านบาท 

เดือน พ.ย.เสนอ 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ มูลค่า 6,570 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา) มูลค่า 17,671 ล้านบาท ซึ่งกำลังเสนอ สศช.ส่วนเดือน ธ.ค.นี้จะเสนอรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ 37,527 ล้านบาท ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 26,663 ล้านบาท ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 8,120 ล้านบาท ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 67,965 ล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 42,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นทางที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 24,000 ล้านบาท

ข้ามไปปี 2562 ในเดือน ม.ค.เตรียมจะเสนอรถไฟทางคู่ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 62,883 ล้านบาท ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 24,294 ล้านบาท ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา 57,375 ล้านบาท และช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 85,345 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องบิน ของการบินไทย วงเงินราว 100,000 ล้านบาท รวมทั้งจะเสนอรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 131,172 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเดินรถมีนบุรี-บางขุนนนท์ 140,000 ล้านบาท

ก.พ. 62 เปิดเอกชนพัฒนาที่ดินบางซื่อ
ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้จัดเปิดรับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A เพื่อให้ภาคเอกชนและนักลงทุนเห็นถึงศักยภาพของสถานีกลางบางซื่อ และแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ พร้อมทั้งร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีกไทยและต่างประเทศ อาทิ ทีซีซีกรุ๊ป, ซี.พี.แลนด์, ยูนิเวนเจอร์, เซ็นทรัลพัฒนา, สิงห์เอสเตท, พร็อพเพอร์ตี้, แลนด์แอนด์เฮ้าส์, สยามแม๊คโคร, เดอะมอลล์, แสนสิริ เข้าร่วมงานในครั้งนี้ 

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเมื่อแล้วเสร็จ จะเป็นการปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยใหม่ของประเทศไทย ในรอบ 200 ปี จากการพัฒนาทางด้านใต้ย่านเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณสถานีหัวลำโพง ย้ายมาอยู่ทางด้านเหนือ ที่ย่านบางซื่อ ต่อไปจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่หรือดาวน์ทาวน์ และยังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเป็นสมาร์ซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะ ส่วนหัวลำโพงจะเป็นเมืองเก่า หรือโอลด์ทาวน์

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน พื้นที่รวม 2,325 ไร่ จะแบ่งพื้นที่พัฒนา 9 แปลง มีระยะการพัฒนา 3 ระยะ ใช้เวลาพัฒนา 15-20 ปี ในระยะแรกปี 2561-2565 มีโซน A, E, D ระยะที่ 2 ปี 2566-2570 โซน C, F, G และระยะที่ 3 ปี 2571- 2575 โซน B, D, H, I สำหรับพื้นที่แปลง A ที่จะนำมาพัฒนาก่อนเป็นแปลงแรกมีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 11,721 ล้านบาท มีแผนจะพัฒนาเป็น “ศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร” รูปแบบมิกซ์ยูส โดยเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก 

ทั้งนี้จะเปิดให้ภาคเอกชนและนักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนในรูปแบบ DBFOT คือ ออกแบบรายละเอียด ก่อสร้าง จัดหาแหล่งเงินลงทุนและบริหารจัดการโครงการ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี และก่อสร้าง 4 ปี รวม 34 ปี คาดว่า ร.ฟ.ท.จะได้ผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาจากโครงการนี้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยจะประกาศทีโออาร์ของแปลง A ได้ภายในเดือน ม.ค. 2562 จากนั้นเดือน ก.พ.-เม.ย. เปิดให้ยื่นข้อเสนอ และประเมินผลข้อเสนอกลางเดือน พ.ค.-มิ.ย. และเดือน ก.ค.-ก.ย.จะเจรจาผลตอบแทนกับเอกชนที่ชนะประมูล คาดว่าจะเซ็นสัญญาไม่เกินเดือน พ.ย.2562 เริ่มพัฒนากลางปี 2563 และจะเปิดบริการเต็มโครงการได้ในปี 2566  โดยคาดว่าสถานีกลางบางซื่อจะมีผู้มาใช้บริการประมาณ 208,000 เที่ยวคนต่อวัน 

คจร.เห็นชอบขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทอง
ขณะเดียวกันคณะกรรมการจัดการระบบจราจรทางบก (คจร.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2561 มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดาลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. บรรจุลงในแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP 2) โดยจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

สำหรับเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีชมพู จะเริ่มจากเริ่มต้นจาก ถ.แจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของสายหลัก ไปทางทิศตะวันตก เลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี ประกอบด้วยสถานีรับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 ตั้งอยู่บริเวณอิมแพ็คชาเลนเจอร์ (Impact Challenger) และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี

ส่วนสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย แนวเส้นทางเริ่มจากจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนว ถ.รัชดาภิเษก จนถึงบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – คูคต มีสถานี YLEX-01 อยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานี YLEX-02 ตั้งอยู่เหนือทางเท้าบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน และมีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ไฟเขียวโครงการนำร่องรถไฟฟ้าขอนแก่น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาค โดยได้เห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการ ในเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (แอลอาร์ที)  16 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้านบาท

ด้านโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเบื้องต้นระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา การจัดทำแผนจัดการจราจร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ทีโอดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

สำหรับโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินโครงการ โดย สนข.ได้จัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง และจัดทำแผนจัดการจราจร พร้อมแผนพัฒนาพื้นที่ทีโอดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้คจร.ยังได้เห็นชอบโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก และมอบ รฟม.ไปดำเนินการตามขั้นตอน โดยต้องศึกษารายละเอียดเส้นทางรถรางล้อยาง (Auto Tram) สายสีแดง ช่วงสถานีขนส่งแห่งที่ 2 – เซ็นทรัล พิษณุโลก ระยะทาง 12 กม.

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร