Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ดร.นเรศ ดำรงชัย นำ TCELS พัฒนาพื้นที่สุขภาพ ดันเชียงใหม่สู่เมืองสุขภาพดิจิทัล

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จังหวัดเชียงใหม่จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวตลอดจนถึงผู้คนหลากหลายท่านทั้ง ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีโอกาสได้สัมผัสจนเกิดความหลงใหลเปลี่ยนจากจุดหมายท่องเที่ยว ให้เป็นปลายทางสำหรับการใช้ชีวิต เดิมอาจเพราะ สิ่งแวดล้อม อากาศ วิถีชีวิต หรือขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ปัจจุบันหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แม้กระทั่งเรื่องคุณภาพอากาศที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ องค์การมหาชน หรือ TCELS พร้อมด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จึงร่วมผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพมีบริการการแพทย์และสาธารณสุขที่สมบูรณ์แบบ และเพื่อส่งเสริมสุขภาวะคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนในพื้นที่ ทีมงานได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ องค์การมหาชน (TCELS) ถึงสิ่งที่กำลังจะผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมนับจากนี้…

 

ปักธงเชียงใหม่ นำร่องเมืองสุขภาพในภูมิภาค

ในฐานะที่ TCELS เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาช่วยส่งเสริมพื้นที่โดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดแข็งหลายประการ มีหน้าที่หลักๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ 

1. เป็นสะพานในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ การวิจัย นักวิจัย ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ ที่เรามีคณะแพทยศาสตร์  กลุ่มคณะแพทย์อีกหลายคณะ ที่มีองค์ความรู้หลายเรื่องทำให้เกิดประโยชน์ใช้งานได้จริง

2. สามารถสร้างความมีส่วนรวมกับคนในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคชุมชน เป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยง ภายใต้การสนับสนุนของ TCELS

3. มีภารกิจในการส่งเสริมสตาร์ทอัพอยู่ ดังนั้นกลไกการสร้างสตาร์ทอัพครั้งนี้ จะเจาะจง ด้านสุขภาพ ด้านการใช้เทคโนชีวภาพทางการแพทย์ โดยนำดิจิทัลเข้ามาผนวก การกระจายจะกว้างขวางขึ้นทันที 

 

ประสานสร้างความเข้มแข็งกับมหาวิทยาลัย

TCELS มีความร่วมมือกับจังหวัดเชียงใหม่โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นระยะเวลาประมาณเกือบหนึ่งปีที่เริ่มต้นพร้อมกันทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่, สสจ. และกลุ่มเอกชน เพราะอาจจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มต้น ของการดิจิตอลเฮลท์ (Digital Health) เพื่อทำให้เชียงใหม่เป็นโมเดลซิตี้  สำหรับสร้างเป็นเมืองทางด้านสุขภาพและการแพทย์

เนื่องจากเชียงใหม่ถือว่ามีความพร้อมสูงมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์เข้มแข็ง มีภาคเอกชน มีการรวมกลุ่มของหอการค้าฯ, สภาอุตสาหกรรมค่อนข้างโดดเด่น เมื่อเปรียบเทียบกับ จังหวัดอื่นในประเทศไทย ที่สำคัญมีความร่วมมือประสานงานกันอยู่แล้ว

จุดแข็งอื่นๆ เป็นเรื่องของโลเคชั่น เพราะว่าภาคเหนือโดยเฉพาะ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย ต่อไปในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงไปต่อประเทศเพื่อนบ้าน จีน พม่า ลาว ซึ่งจะค่อยๆ เติบโตเข้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้นการเป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือต้องรีบพยายามตั้งหลัก  ชูความเป็นผู้นำ และเมื่อมีการตัดเส้นทางรถไฟ มีการคมนาคมสัญจรที่เพิ่มมากขึ้น  จึงคิดว่าเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่โดดเด่นในระดับของภูมิภาคได้   

 

ตั้งเป้า 10 ปี เห็นผล 3 ปีแรกทุ่มงบพันล้านเตรียมความพร้อม

สำหรับเป้าหมายจะผลักดันให้ไปถึงจุดที่วางแผนไว้ได้ภายในระยะเวลา 10 ปี  เพราะการสร้างเมืองสุขภาพ 10 ปี นั้นไม่ได้ถือว่ายาวเกินไป ในช่วงของ 3 ปีแรก  จะเริ่มต้นเตรียมความพร้อม เรื่องบุคลากรทางด้านสุขภาพ ส่วน 7 ปีหลัง ก็จะพัฒนาด้านยา, เครื่องมือแพทย์ เพื่อตอบโจทย์วงจรชีวิตของการพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรม และให้เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ตัวผลิตภัณฑ์และการบริการ ลงหลัก ขยายผล ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรกนั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่าพันล้านบาท 

ในส่วนของเชียงใหม่และภาคเหนือ พบว่าปัญหาเชิงสุขภาพ เช่น เรื่องฝุ่นควัน เรื่องของสุขภาพโรคที่ไม่ติดต่อ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นปัญหาหลัก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาแค่โรคเพียงอย่างเดียว การเข้ารับการบริการ ก็นับเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น หมอมี เครื่องมือมี แต่คนไข้ไม่มาหาหมอ 

 

ดึงเอกชนที่มีศักยภาพด้านยวัตกรรมร่วม ให้ทุกคนเข้าถึง

ดังนั้น TCELS ต้องการให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนเรื่องนวัตกรรม  และเพื่อประโยชน์ในเชิงสุขภาพประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ โดยตั้งโจทย์ให้ทุกคนมาออกไอเดียว่า เชียงใหม่ต้องเป็นเมืองสุขภาพ เป็นเมืองต้นแบบ แต่จะทำยังไงให้เป็นเมืองต้นแบบ ก็จะต้องมาระดมความคิดกัน เช่น มีระบบที่ดีในการดูแล เช่นมีดิจิตอลเฮลท์ เป็นระบบติดตามตัวในการดูแลให้ เพื่อให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่ในเชียงใหม่ ทั้งนักท่องเที่ยว ประชาชน ชาวเขาและ คนในเมือง เช่น ชาวต่างชาติ ผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ที่จะสามารถได้รับการดูแลได้ทันท่วงที  ส่วนชาวเขาที่อยู่ไกลๆ หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะดูแลเขาอย่างไร จะเอาเฮลิคอปเตอร์ไปรับ-ส่ง ทุกครั้งก็คงไม่ไหว แต่ถ้ามีอุปกรณ์สามารถใช้อุปกรณ์นั้นได้เพื่อให้เข้าถึง ได้โดยเร็วและทันท่วงที

 

การพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อสร้างให้เชียงใหม่เป็นเมืองสุขภาพ หากบรรลุผลสำเร็จ คาดว่าจะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบจะมีคนที่อื่นมาอาศัยในจังหวัดเชียงใหม่มากขึ้น ส่งเสริมในการสร้างเมือง สร้างรายได้ สร้างงาน  สร้างความเจริญ เพราะทุกคนจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สุดท้ายทุกคนก็จะรักเมืองเชียงใหม่...

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร