Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ครม. เห็นชอบสร้างรถไฟฟ้ารางเบาเมืองโคราช เริ่มคิกออฟปี 63

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ครม.ไฟเขียวให้ รฟม. สร้างรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา วงเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit-LRT)  มีแผนการดำเนินการ 3 ระยะ เริ่มสร้างในปี 2563

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.นครราชสีมา เพื่อเพิ่มปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดปัญหาจราจร และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

​รูปแบบของโครงการตามผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือสนข. จะก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit-LRT) เงินลงทุน 32,600 ล้านบาท มีแผนดำเนินการใน 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1 ปี 2563-2565 วงเงิน 13,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สายสีส้ม ช่วงแยกประโดก-ถนนช้างเผือก-คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร 17 สถานี วงเงิน 8,400 ล้านบาท และสายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน, ถนนมุขมนตรี, สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร 18 สถานี วงเงิน 5,200 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ปี 2566-2568 วงเงิน 4,800 ล้านบาท ประกอบด้วย สายสีม่วง ช่วงตลาดเซฟวัน, ถนนมิตรภาพ, สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร 9 สถานี

ระยะที่ 3 ประกอบด้วย ส่วนต่อขยายสายสีส้ม ช่วงโรงเรียนเทศบาล 1, หัวทะเล, ดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 (ห้วยบ้านยาง), ตลาดเซฟวัน, ช่วงสถานคุ้มครองพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์, สำนักงานขนส่ง จ.นครราชสีมา สาขา 2 รวมระยะทาง 23.29 กิโลเมตร และส่วนต่อขยายสายสีม่วง ช่วง ม.วงษ์ชวลิตกุล, แยกจอหอ, ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กิโลเมตร วงเงินรวม 14,200 ล้านบาท


ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมทุน (PPP) คู่ขนานไปกับการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รวม 12,800 ล้านบาท ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้ ร.ฟ.ท.ด้วย

การกู้เงินในครั้งนี้แบ่งได้ 2 วัตถุประสงค์ คือ 1. กู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 12,000 ล้านบาท ร.ฟ.ท.มีผลขาดทุนต่อเนื่อง และได้รับเงินชดเชยการขาดทุนที่ไม่เป็นไปตามจำนวนที่ขาดทุนจริง ส่งผลให้แต่ละปี ร.ฟ.ท.ขาดสภาพคล่องทุกปีโดยมียอดขาดทุนสะสมเฉพาะปี 2550-2560 รวมเป็นเงิน 158,606.293 ล้านบาท ร.ฟ.ท. จึงต้องกู้เงินเพื่อใช้ดำเนินการทุกปี ณ วันที่ 30 ก.ย 2561 ร.ฟ.ท. จึงมียอดหนี้สินเพื่อดำเนินการอยู่ที่ 104,581 ล้านบาท เป็นผลมาจากการไม่ปรับเพิ่มรายได้การขนส่งและสอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน และการรับภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน รถจักร และล้อเลื่อนจำนวนมาก

2. กู้ระยะสั้น โดยต่อสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทย 1 ปี (30 มี.ค. 2562 – 29 มี.ค. 2563) วงเงิน 800 ล้านบาท เป็นการให้กู้เพื่อให้มีเงินสำรองไว้ใช้ในช่วงที่ประสบปัญหาเงินสดขาดมือ ซึ่งในปี 2561 ได้ต่อสัญญาเงินกู้ไปแล้วและจะครบสัญญาในวันที่ 29 มี.ค. 2562 นี้ เพื่อความจำเป็น ร.ฟ.ท. จึงต้องต่อสัญญาเงินกู้ดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี

ขอขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

Baania มี Line แล้วนะ

ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania


ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร