Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เมืองจมฝุ่น คนเสี่ยงโรคอ้วน-เบาหวาน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลังเมืองใหญ่ในประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาแล้วหลายระลอก ผลกระทบที่หยิบยกมาพูดถึงเป็นเรื่องของระบบทางเดินหายใจ  โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หรือแม้แต่ปัญหาทางสุขภาพจิต ที่มาจากมลภาวะทางอากาศ แต่เชื่อหรือไม่ว่า แค่สูดลมหายใจเข้า...ออก ในภาวะอากาศไม่บริสุทธิ์เช่นนี้ ก็ทำให้คุณเสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ 

สำนักข่าวบีบีซีเคยนำเสนอบทความเมื่อปี 2015 “The air that makes you fat” (อากาศที่ทำให้คุณอ้วน) โดยยกผลวิจัยของคณะแพทย์หลากหลายประเทศที่ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพอากาศของเมืองกับระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย มีสาระสำคัญว่า คนที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะทางอากาศจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนมากกว่า แม้ทั้งสองคนจะรับประทานอาหารและออกกำลังกายเหมือนกัน 

ดร. หง เฉิน นักวิจัยจาก Public Health Ontario และ Institute of Clinical Evacuative Sciences ประเทศแคนาดา อธิบายว่าควันจากท่อไอเสียและควันบุหรี่เป็นตัวการณ์สำคัญ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า เมื่อขนาดอนุภาคที่เล็กจิ๋วของฝุ่นควันเข้าไปในร่างกาย มันจะเข้าไปขัดขวางความสามารถในการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลระยะยาวต่อร่างกายมากกว่าแค่ปอดและระบบทางเดินหายใจ

สอดคล้องกับผลงานทดลองในหนูโดย นายแพทย์ชิงหัว ซัน จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ที่แบ่งหนูเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ อีกกลุ่มอาศัยท่ามกลางควันพิษในใจกลางเมืองและใกล้มอเตอร์เวย์ ตลอดการทดลอง ทีมวิจัยได้ชั่งน้ำหนักหนูทั้งสองกลุ่มและศึกษาระบบการเผาผลาญพลังงานอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งผ่านไป 10 สัปดาห์ ผลการศึกษาเปรียบเทียบปรากฏให้เห็นชัดเจน 

หนูที่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศมีสัดส่วนค่าไขมันสูงกว่าถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบหนูที่อาศัยในพื้นที่อากาศบริสุทธิ์  นอกจากนี้ ยังพบว่าหนูอ้วนกว่ายังดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นพลังงาน นั่นหมายความว่า หนูอ้วนกว่าเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในระยะเริ่มต้น

นายแพทย์ไมเคิล เจอร์เร็ตต์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ เบิร์กลีย์ ได้ทำการทดลองในสัตว์เพิ่มเติม เขาพบว่า อนุภาคขนาดเล็ก เช่น PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดวิกฤตมลภาวะทางอากาศในหลายเมืองทั่วโลก นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของอินซูลินแล้ว มันยังรบกวนการทำงานของสมองที่ควบคุมความอยากอาหารด้วย กล่าวโดยสรุปคืออากาศที่เลวร้ายของเมืองส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูงด้วยนั่นเอง 

ยังเคยมีการศึกษาในกลุ่มมารดา-บุตร และกลุ่มเด็ก-เยาวชนด้วย เช่น ผลการศึกษาของ นพ.แอนดรูว์ รันเดิล จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ ทำการศึกษาเด็กที่เกิดและเติบโตในย่านนิวยอร์กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ถึงอายุได้ 7 ปี โดยควบคุมระดับฐานะของครอบครัวและโภชนาการ ผลการศึกษาพบว่าเด็กในพื้นที่อากาศไม่มีคุณภาพ ถูกวินิจฉัยว่าเสี่ยงโรคอ้วนมากกว่าเด็กในย่านไร้มลพิษถึง 2.3 เท่า สอดคล้องกับผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ซึ่งติดตามเด็กอเมริกันกว่า 2,300 คน เด็กและเยาวชนที่อาศัยใกล้กับถนนที่มีการจราจรติดขัดจะมีน้ำหนักเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่สูดอากาศบริสุทธิ์ถึง 2 ปอนด์ หรือราว 0.91 กิโลกรัม

US Environmental Protection Agency และองค์การอนามัยโลก (WHO) อ้างอิงผลการศึกษาในวารสาร Lancet Planetary Health ยืนยันว่า มลภาวะทางอากาศในระดับที่ส่งกระทบต่อการดำรงชีวิต เพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวานของประชากรทั่วโลก เฉพาะปี 2016 เพียงปีเดียว มลภาวะทางอากาศเป็นสาเหตุของโรคเบาหวานในประชากรกว่า 3.2 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 14% ของผู้ป่วยรายใหม่ในปีนั้น

เมื่อ “อาหาร” ไม่ใช่ความเสี่ยงเพียงประการเดียวของโรคอ้วน-โรคเบาหวาน แต่ยังมีอีก 1 ปัจจัยสำคัญที่ยากจะหลีกเลี่ยง นั่นคือ “อากาศ” ของเมือง จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ไม่ให้วิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อเมืองจมในฝุ่นเท่านั้น 

 

สิ่งที่ต้องระวัง

จากการศึกษาของธนาคารโลกชี้ว่า ปัจจุบันมลพิษอากาศในประเทศไทยเป็นตัวการสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงราว 50,000 รายต่อปี ที่สำคัญผู้คนที่อยู่ในไทยยังต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) 

ทั้งฝุ่นขนาด 2.5 PM ยังแฝงไปด้วย P-A-Hs  สารพิษชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง, สารปรอทที่ทำลายระบบประสาท มะเร็ง และความผิดปกติทางพันธุกรรม, สารหนู อาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง มึนชา อยากอาเจียน และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้ รวมถึงแคดเมียม ซึ่งจะเข้าไปทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งผิวหนัง ปอด ทางเดินอาหาร และกระดูก

สำหรับกลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษมากที่สุด 4 กลุ่ม ได้แก่

เด็กยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยง เพราะปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา และมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงกว่าผู้ใหญ่
หญิงมีครรภ์  อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวทารกแรกคลอดต่ำ รวมทั้งยังเสี่ยงที่จะแท้งมากขึ้น
ผู้สูงวัย เพราะมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ อาจทำให้โรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจกำเริบได้ง่าย
ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบปอดหรือโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากโรคจะกำเริบได้ง่าย

เลี่ยงผลกระทบจากฝุ่น

เมื่อต้องเดินทางออกไปอยู่กลางแจ้ง ทุกคนควรป้องกันตัวเองด้วยหน้ากาก N95 แต่สำหรับคนที่มีที่พักอาศัยอยู่ในเขตฝุ่นในปริมาณมากๆ วันนี้ Baania มีวิธีมาแนะนำกันครับ

1.ใช้เวลาอยู่ภายในที่พักอาศัยหรืออาคารให้มากขึ้น ใครที่ชื่นชอบการไปออกกำลังกลางแจ้ง ลองเปลี่ยนมาออกกำลังกายในฟิตเนสที่บ้านหรือคอนโดมิเนียมแทน เพื่อลดความเสี่ยงกับฝุ่นพิษภายนอก
2. ปิดหน้าต่าง แล้วปรับโหมดเครื่องปรับอากาศเป็นโหมดใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนการดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา 
3. ซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีเครี่องกรองอนุภาคฝุ่นละอองสูง เพื่อลดระดับอนุภาคภายในอาคาร 
4. เลือกอยู่คอนโดฯ​ ชั้นสูงๆ  เพราะฝุ่นพิษจะลอยเป็นแนวดิ่งสูงขึ้นไปได้ถึง 100 เมตร เมื่อไปปะทะกับอากาศข้างบนที่ร้อนกว่าจากแสงอาทิตย์ จะดันฝุ่นให้กลับลงมา  สำหรับผู้ที่อยู่ชั้นต่ำลงมาแนะนำว่าให้ปิดหน้าต่างไปก่อนเพื่อรอให้สถานการณ์ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
5.หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่มีการเผาไหม้ เช่น เทียน การปิ้งย่าง หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่ทำให้เกิดควัน
6.ปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ  เช่น ต้นลิ้นมังกร ต้นเดหลี ต้นจั๋ง ต้นบอสตันเฟิร์น ต้นปาล์มไผ่ ว่านหางจระเข้  ต้นสาวน้อยประแป้ง ต้นไอวี่ ต้นสัตบรรณ ต้นไทรใบใหญ่ ต้นวาสนา ต้นหมากเหลือง ต้นเบญจมาศ เป็นต้น

 

ชยากรณ์ กำโชค 

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

 

ที่มาข้อมูล

https://www.dailymail.co.uk/health/article-6375133/Air-pollution-make
-FAT-warns-Dr-Michael-Mosley.html

https://www.forbes.com/sites/brucelee/2016/02/25/will-air-pollution-
make-you-gain-weight/#69597db56361 

http://www.bbc.com/future/story/20151207-the-air-that-makes-you-fat 

https://kywnewsradio.radio.com/articles/air-pollution-linked-32-million-
new-diabetes-cases-one-year 

www.baania.com

https://baania.com/en/node/4783?s=list

ภาพจากกรมอนามัย

 

 

 

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร