Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแคราย-ลำสาลี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

สนข.เปิดรับฟังความเห็นรอบ 2 บริษัทที่ปรึกษาเสนอสร้างแบบแพ็คคู่ทางด่วน-รถไฟฟ้า มูลค่ารวม 7.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านไม่เอาด้วยขอรถไฟฟ้าอย่างเดียว หวั่นมลพิษทางด่วน ไม่คุ้มลงทุน ด้านรมช.คมนาคมตั้งเป้าได้ข้อสรุปเสนอครม.ภายในปีนี้

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (การสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นรถไฟฟ้าสายที่ 11 ที่มีแผนจะดำเนินการก่อสร้าง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในปีนี้ และหากสามารถดำเนินการได้จะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตกสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะทำให้ระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมดมีระยะทางรวม 480 กิโลเมตร ให้บริการแก่ประชาชนได้ครอบคลุมทั้งกทม.และปริมณฑล

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสม และใช้ประโยชน์เสาตอม่อ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร- นวมินทร์ แต่เดิมได้กำหนดให้เป็นเส้นทางเชื่อมกับระบบทางพิเศษระหว่างเมืองด้านตะวันออก-ตะวันตก ต่อมาในปี 2557 กระทรวงคมนาคม มีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยใช้เสาตอม่อโครงการระบบทางด่วนดังกล่าวให้เกิดประโยชน์

ในปี 2560 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยพิจารณาโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวมและเชื่อมต่อต่างๆ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อดังกล่าว 4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) 2. การพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงข่ายเชื่อมต่อจาก N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) 3. การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน และ 4. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน และจากผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า รูปแบบที่ 4 ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน มีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุด 

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม)จะเริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน จุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ เลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัด ถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จำนวนสถานีเบื้องต้น 18 สถานี มูลค่าโครงการ 5 หมื่นล้านบาท 

ในส่วนของระบบทางด่วนจะเป็นการต่อขยายแนวระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ส่วนต่อขยายที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา โดยแนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร และ 2. ช่วงทดแทน ตอน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ สนข. จะได้นำเสนอ คจร. เพื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการ ก่อนมอบหมาย สนข. พิจารณาระยะเวลาการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่เหมาะสม และมอบหมายการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบทางด่วนทดแทน ตอน N1 ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 และ E-W Corridor เพื่อลดผลกระทบการจราจรบริเวณแยกเกษตร  

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการทางเลือกในรูปแบบที่ 4 ที่จะสร้างรถไฟฟ้าและทางด่วน โดยส่วนใหญ่เห็นชอบทางเลือกที่ 1 คือ สร้างรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเป็นห่วงผลกระทบทั้งในเรื่องของการเวนคืน  และมลภาวะที่จะเกิดขึ้น และเห็นว่า การลงทุนสร้างทั้งทางด่วน และรถไฟฟ้าจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึงความเห็นดังกล่าวจะนำไปให้สนข.พิจารณารูปแบบการก่อสร้างอีกครั้ง

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร