Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เคล็ดลับวิธีปลูกกล้วยไม้ในบ้านให้ออกดอกเร็ว

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

กล้วยไม้ จัดอยู่ในกลุ่มของไม้ประดับที่ได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่เขตร้อนที่มีปริมาณความชื้นเหมาะสม ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งดอกไม้” ที่หลายคนอยากมีไว้ครอบครอง แต่เนื่องจากวิธีปลูกกล้วยไม้ค่อนข้างละเอียดอ่อน ผู้ปลูกส่วนใหญ่จึงมักจะมีปัญหากวนใจในเรื่องของการดูแลรักษาอยู่เสมอ

พันธุ์กล้วยไม้ที่นิยมปลูกในบ้าน

สายพันธุ์กล้วยไม้มีอยู่มากมายหลายสกุล ถูกแบ่งย่อยออกได้อีกนับหมื่นชนิด ด้วยปัจจัยเหล่านี้มักจะทำให้คนเข้าใจผิดว่าปลูกอย่างไรก็เหมือนกัน โดยมองข้ามสายพันธุ์ที่เหมาะสมไปเสียสนิท ในประเทศไทยมีกล้วยไม้หลายชนิดที่ได้รับความนิยมปลูกในบ้าน เราจึงขอยกตัวอย่างสายพันธุ์ที่โดดเด่นมา 8 ชนิด อาทิ

1. กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี

กล้วยไม้สายพันธุ์นี้พบมากในประเทศที่มีภูมิอากาศอบอุ่นจนถึงเขตร้อนชื้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแตกกอและสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ปลอดโปร่ง แสงแดดส่องถึง จึงสามารถพบเห็นได้แทบทุกภูมิภาคในบ้านเรา

ลักษณะเด่นของกล้วยไม้สกุลนี้ คือ มีกลีบดอกที่คล้ายกับรองเท้าแตะและมีสีสันแปลกตาราวกับถูกแต่งแต้มด้วยสีน้ำจากปลายพู่กันก็ไม่ปาน สายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงในบ้านเราประกอบด้วย กล้วยไม้นารีอินทนนท์ กล้วยไม้นารีเหลืองปราจีน และกล้วยไม้นารีม่วงสงขลา เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี

2. กล้วยไม้สกุลแวนด้า

กล้วยไม้สายพันธุ์ประหลาดที่สามารถเจริญเติบโตได้ในขณะที่รากลอยอยู่บนอากาศโดยไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยว เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบ้านเรา เนื่องจากลักษณะของดอกกล้วยไม้สกุลแวนด้า มีความสลับซับซ้อน ราวกับอัญมณีอันประณีตก็ไม่ปาน กล้วยไม้สายพันธุ์แวนด้าที่มีชื่อเสียงในบ้านเรา ได้แก่ ฟ้ามุ่ย เอื้องสามปอยขาว และเอื้องโมกข์ เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลแวนด้า

3. กล้วยไม้สกุลหวาย

ถือเป็นกล้วยไม้สายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อการค้า มีสีสันงดงามมากมายสบายตา ง่ายต่อการซื้อหามาประดับตกแต่ง กล้วยไม้สกุลหวายที่นิยมปลูกกันมากในบ้านเรา ได้แก่ เอื้องหลวง เอื้องเงิน และพวงหยก เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลหวาย

4. กล้วยไม้สกุลเข็ม

กล้วยไม้สายพันธุ์นี้สามารถพบเห็นได้แทบทุกพื้นที่ในบ้านเรา ลักษณะจะคล้ายกับกล้วยไม้ในสกุลแวนด้า เพียงแต่ดอกของกล้วยไม้จะมีขนาดเล็กและจับกลุ่มกันถี่กว่านั่นเอง หากไม่สังเกตให้ดี หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นดอกเข็มก็เป็นได้ กล้วยไม้สกุลเข็มที่มีชื่อเสียงในบ้านเรา ได้แก่ เข็มแดง เข็มหนู และเข็มแสด เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลเข็ม

5. กล้วยไม้สกุลช้าง

เจริญเติบโตได้ดีเป็นอย่างมากในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น โดยปกติเราสามารถพบเห็นกล้วยไม้สายพันธุ์นี้ในธรรมชาติได้เพียง 4 ชนิดเท่านั้น ที่สำคัญ 3 ใน 4 ชนิดนี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองไทย ได้แก่ ไอยเรศ เขาแกะ และช้าง นั่นเอง

กล้วยไม้สกุลช้าง

6. กล้วยไม้สกุลกุหลาบ

สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนใหญ่นิยมเกาะอยู่บนต้นไม้ เจริญเติบโตง่าย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไปได้มากเลยทีเดียว กล้วยไม้สกุลกุหลาบที่นิยมปลูกในบ้านเราประกอบไปด้วย กุหลาบเหลืองโคราช กุหลาบชมพูกระบี่ และกุหลาบน่าน เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ

7. กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา

เป็นกล้วยไม้ที่ลักษณะเด่นแปลกตา ไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่และสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกพื้นที่ หากท่านใดที่สนใจกล้วยไม้สายพันธุ์นี้อาจต้องพิถีพิถันในกระบวนการรดน้ำสักหน่อย เนื่องจากดอกกล้วยไม้วัยแรกแย้มนั้นค่อนข้างอ่อนไหวกับการให้น้ำที่เกินพอดี สายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อในบ้านเราได้แก่ สิงโตเหยี่ยวใหญ่ และสิงโตเหยี่ยวเล็ก เป็นต้น

กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา

8. กล้วยไม้สกุลแคทลียา

ปิดท้ายกันด้วยกล้วยไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดในสกุลต่าง ๆ อีกทั้งยังเลี้ยงดูง่าย หาข้อมูลการปลูกได้จากสื่อทั่วไป เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในหลายพื้นที่ทั่วโลก ส่งผลให้กล้วยไม้ในสกุลแคทลียา มีวิวัฒนาการในการพัฒนาสายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

หากจะกล่าวถึงกล้วยไม้สกุลนี้ที่โด่งดังที่สุดในเมืองไทย คงหนีไม่พ้นสายพันธุ์แคทลียาควีนสิริกิติ์ ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของสมาคมกล้วยไม้โลกนั่นเอง

กล้วยไม้สกุลแคทลียา

อุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกกล้วยไม้ในบ้าน

  • ภาชนะปลูก มีหลายแบบ หลายราคาให้เลือกหากันได้ตามท้องตลาดขึ้นอยู่กับขนาดของกล้วยไม้ที่จะทำการปลูก อาทิ กระถางดินเผา กระเช้าไม้สัก ท่อนไม้ที่มีเปลือก หรือต้นไม้ใหญ่ภายในบ้าน เป็นต้น
  • วัสดุสำหรับปลูก เมื่อดินไม่ใช่คำตอบสุดท้าย วัสดุที่นิยมนำมาปลูกกล้วยไม้ประกอบด้วย กาบมะพร้าว ออสมันด้าที่ได้มาจากรากเฟิร์น ถ่าน หินกรวด และทรายหยาบ จะช่วยทำให้น้ำไม่ขัง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วนอีกด้วย

อุปกรณ์ในการปลูก

วิธีปลูกกล้วยไม้ในบ้านให้ออกดอกเร็ว

เคล็ดลับในการเร่งการเจริญเติบโตของกล้วยไม้มีอยู่หลายวิธี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  • อาหารเสริมสูตรอินทรีย์ อาทิ ฮอร์โมนไข่ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำจากกล้วยน้ำว้าสุก ฟักทอง กากน้ำตาล และจุลินทรีย์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเร่งการออกดอกของกล้วยไม้ เป็นต้น
  • อาหารเสริมเคมี อาทิ ปุ๋ยเกล็ดหรือปุ๋ยเม็ด และฮอร์โมนแบบฉีดเพื่อกระตุ้นการออกดอก เป็นต้น

ปลูกกล้วยไม้ในบ้าน

วิธีดูแลรักษากล้วยไม้

ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกกล้วยไม้

  • ปริมาณแสงแดด เนื่องจากกล้วยไม้แต่ละสกุลต้องการปริมาณแสงแดดในแต่ละวันไม่เท่ากัน เช่น สกุลแวนด้าต้องการแสงแดด 50% แต่กล้วยไม้สกุลหวายนั้นต้องการปริมาณแสงแดดสูงถึง 70 % และไม่ควรให้กล้วยไม้โดนแสงแดดโดยตรงหลัง 11.00 น. เป็นต้นไป
  • อุณหภูมิที่เหมาะสม 25-30 องศาเซลเซียส
  • ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80 % คือปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้
  • วัสดุที่ใช้ปลูกกล้วยไม้ ควรเลือกให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ในสกุลต่าง ๆ เนื่องจากกล้วยไม่แต่ละชนิดมีระบบรากที่แตกต่างกันออกไป

ให้ปุ๋ยกล้วยไม้ในปริมาณที่เหมาะสมกับสายพันธุ์

ประเภทของปุ๋ยที่นิยมใช้กับกล้วยไม้มี 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ และปุ๋ยเม็ดละลายช้า ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความเหมาะสมในการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป เช่น

  • ปุ๋ยน้ำ เหมาะสำหรับกล้วยไม้ที่กำลังเจริญเติบโตพร้อมดูดซึมสารอาหารไปใช้งานได้ทันที
  • ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ ใช้งานง่ายเหมาะสำหรับกล้วยไม้ที่มีระบบรากลอย
  • ปุ๋ยเม็ดละลายช้า ประหยัดเวลา ใช้เวลานานกว่าสารอาหารจะละลายหมด

การให้น้ำกล้วยไม้

วิธีการให้น้ำกล้วยไม้ ควรให้ในช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไปหรือไม่เกิน 9 โมงเช้าของทุกวัน ที่สำคัญควรเลือกน้ำที่สะอาดปราศจากสารตกค้าง อาทิ น้ำฝน น้ำที่ผ่านการกรองแล้ว หรือน้ำประปาสะอาด เป็นต้น นอกจากนี้วิธีการรดน้ำก็ต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ควรใช้สายฉีดแรงดันสูงและรดเพียงส่วนกระถางให้ชุ่มเท่านั้น เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อเรือนยอดของกล้วยไม้นั่นเอง

สังเกตโรคและศัตรูพืชอยู่เสมอ

เนื่องจากเชื้อราและแมลงบางชนิดมีขนาดเล็กมากจนยากต่อการมองเห็น ดังนั้น การเฝ้าระวังสังเกตอาการของกล้วยไม้จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำทุกวัน โรคและแมลงที่เป็นอันตรายต่อกล้วยไม้ที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบไปด้วย เพลี้ยไฟ ใบแดง โรคเน่าและใบเหลืองอันสืบเนื่องมาจากเชื้อรา เป็นต้น วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคือทำความสะอาดพื้นที่ให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ

วิธีดูแล

การวิธีปลูกกล้วยไม้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากจนเกินไป หากเราดูแลเอาใจใส่ให้ถูกวิธี ดังนั้นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกกล้วยไม้ให้รอบด้าน จึงถือเป็นการลดความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร