Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

สคร.ถอดใจ “โฮลดิ้งคอมปะนี” แป้ก ถกร่างกฎหมายยืดเยื้อ-สนช.รื้อทั้งฉบับ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

คลังชี้กฎหมายตั้ง “โฮลดิ้งคอมปะนี” แป้ก ระบุมีโอกาสไม่ผ่าน สนช.สูง หลัง กมธ.แก้รายละเอียดเพียบ ตัดเรื่องตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ทิ้ง เปลี่ยนเป็นตั้งหน่วยงานกำกับดูแลใหม่แทน ส่วนร่าง พ.ร.บ. PPP มั่นใจผ่านฉลุย ล่าสุด บอร์ด PPP ไฟเขียวมอเตอร์เวย์เส้นนครปฐม-ชะอำ กว่า 7.9 หมื่นล้าน ชี้หลังจากนี้ลงทุน PPP ใช้ net cost ให้เอกชนออกเงินเองตั้งแต่ต้นทั้งหมด

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตนค่อนข้างเป็นห่วงว่า ร่างพระราชบัญญัติพัฒนาและกำกับดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจ มีโอกาสสูงที่จะพิจารณาเสร็จไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยปัจจุบันการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายคืบหน้าไปได้ล่าช้า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไปอย่างมาก

“เหตุที่ล่าช้าก็เพราะว่า มีการเปลี่ยนรายละเอียดจากของเดิม (ร่าง พ.ร.บ.เดิม) ไปหมดเลย อย่างการตั้งโฮลดิ้งคอมปะนี (บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ) ก็เปลี่ยนเป็นให้ตั้งอีกหน่วยงานขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นเรกูเลเตอร์ (ผู้กำกับดูแล) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ที่ไม่ใช่ สคร.” นายประภาศกล่าว

นายประภาศกล่าวอีกว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ. PPP) คาดว่าจะพิจารณาเสร็จเรียบร้อยได้ทันภายในปี 2561 นี้ โดยปัจจุบันผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็จะรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ย.นี้ และน่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช.ได้ในเดือน ต.ค.ต่อไป

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. PPP นั้นถือว่าจำเป็นต้องเสนอให้ผ่าน เนื่องจากต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเดิม เพื่อให้มุ่งเน้นให้เกิด PPP ในโครงการที่เหมาะสมอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะต้องเป็น PPP ทั้งหมด

นายประภาศกล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เมื่อวันที่ 10 ก.ย. โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการของโครงการทางหลวงสัมปทานสายนครปฐม-ชะอำ (M8) ของกรมทางหลวง ภายใต้มาตรการ PPP fast track มูลค่าเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP net cost

โดยภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และร่วมลงทุนในกรอบวงเงินไม่เกินค่างานโยธา จำนวน 55,805 ล้านบาท และภาคเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้างที่พักริมทาง และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมถึงการบริหารจัดการที่พักริมทาง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนด ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี นับจากเปิดให้บริการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP fast track ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยให้เร่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เงินลงทุนรวมกัน 366,274 ล้านบาท เพื่อเสนอให้คณะกรรมการ PPP ได้ภายในปี 2561 ในเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำนั้น จะเป็น PPP net cost เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่เป็นการให้เอกชนลงทุนไปก่อน โดยวิธีการคัดเลือกผู้ลงทุนก็จะพิจารณาว่า รายใดเสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐน้อยที่สุดก็จะได้รับการพิจารณา

“PPP net cost จะเดินหน้าได้เร็ว เพราะเอกชนลงทุนเอง ซึ่งเขาก็ต้องรีบสร้างให้เสร็จ จะได้เร่งเปิดให้บริการ เพราะถ้ารัฐทำเอง จะมองไม่เห็นต้นทุนค่าเสียโอกาส อย่างรถไฟฟ้าสีม่วงที่เป็นแบบ gross cost ที่สร้างเสร็จไป 2 ปีแล้วถึงมาหาตัวผู้บริหารโครงการเดินรถ โดยหลังจากนี้ การลงทุน PPP จะกำหนดให้เป็น net cost ทั้งหมด รัฐไม่ต้องจ่ายเงินลงทุน จ่ายแต่ค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน สร้างเสร็จค่อยไปจ่ายชดเชยให้เอกชนทีหลัง” นางปานทิพย์กล่าว

นางปานทิพย์กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ PPP ได้ให้ทาง สคร.หารือร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในการสนับสนุนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนแบบ PPP ในการทำโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุ

ที่มา...prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร