Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ศุภาลัยปิดจ๊อบซื้อหุ้นมั่นคงฯ พร้อมลุยบิ๊กโปรเจ็กต์

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ถือว่าจบลงอย่างเป็นทางการสำหรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดโดยสมัครใจ (Voluntary Tender Offer) ในหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ศุภาลัย พรอพเพอร์ตี  แมเนจเม้นท์ จํากัด  บริษัทย่อยของบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) โดยล่าสุดเมื่อเย็นวันที่ 10 กันยายน 2561 บริษัท ศุภาลัย ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปผลของการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท มั่นคงเคหะการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนที่จะไปเรื่องหุ้นๆ วุ่นๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม ศุภาลัย ถึงสนใจซื้อหุ้นบริษัทมั่นคงเคหะการนัก ก็ต้องย้อนความกันหน่อย ก่อนหน้านี้บริษัท มั่นคงเคหะการ มีนายชวน ตั้งมติธรรม เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นายชวนคนนี้ก็คือพี่ชายแท้ๆ ของนายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย ในปัจจุบัน  และตัวนายประทีปเองก็เริ่มต้นทำงานกับพี่ชายที่บริษัท มั่นคงเคหะการ มาก่อนที่จะแยกตัวมาตั้งบริษัท ศุภาลัย เรียกว่า ความผูกพันกับบริษัทมั่นคงเคหะการ ยังมีอยู่อย่างแนบแน่น

เมื่อนายชวนและลูกๆ คิดจะวางมือจึงขายหุ้นส่วนใหญ่ของตระกูลให้กับกลุ่มฟินันซ่า เวลานั้น นายชวนก็แค่มาแจ้งข่าวข้อตกลงที่ทำไปกับฟินันซ่าให้นายประทีปผู้น้องได้แค่รับรู้ ขณะที่ บริษัท ศุภาลัยเอง ก็ยังไม่ได้ตั้งตัวจึงปล่อยให้บริษัท มั่นคงเคหะ เปลี่ยนมือไปเป็นของกลุ่มฟินันซ่า

ต่อมาวันหนึ่งนายประทีปก็เริ่มเก็บหุ้นของบริษัท มั่นคงฯ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คิดเป็น  11.29% แต่การบริหารงานก็ยังคงอยู่ในมือของกลุ่มฟินันซ่า และ บริษัท ซีพีดี โฮลดิ้ง  สัดส่วนหุ้นอยู่ที่ 9.78% และ 9.07% ตามลำดับ

สุดท้าย  บริษัท ศุภาลัย ก็เข้ามา ขอเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด ผ่านบริษัทย่อยที่ชื่อ ศุภาลัย พรอพเพอร์ตี  แมเนจเม้นท์ โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยนายประทีป เคยให้เหตุผลไว้ว่า การเข้าซื้อหุ้นของมั่นคงฯ เพราะเห็นว่า ราคาหุ้นยังสามารถสูงขึ้นไปได้อีกจากศักยภาพของบริษัท จึงสนใจเข้ามาซื้อเพื่อลงทุน และต้องการเข้าไปเสนอแนะการบริหารให้มีการดำเนินงานที่ดีขึ้น

ซื้อหุ้นมั่นคงได้แค่ 0.33%เดินหน้าเก็บในกระดาน 
ล่าสุดจากรายงานที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวานนี้ บริษัทย่อยของศุภาลัย สามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้เพียง 3,281,200 หุ้น จากที่เสนอซื้อทั้งหมด 992,010,177 หุ้น หรือคิดเป็น 0.33% จากหุ้นทั้งหมดเท่านั้นจริงๆ 

"หุ้นของบริษัท มั่นคงเคหะการ ที่เสนอซื้อมานั้นจะได้มากหรือได้น้อยก็ไม่เป็นไร เพราะจากการสอบถามกลต.แล้วก็ยังสามารถเข้าไปทยอยซื้อเก็บในตลาดได้เรื่อยๆ ไม่มีปัญหา ไม่ต้องรีบร้อน" นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวไว้ในวันที่ 31 ส.ค. วันที่พอจะทราบเบื้องต้นแล้วว่าคงจะซื้อหุ้นของมั่นคงได้ไม่เท่าไหร่  

ส่วนในแง่ของการบริหารเราก็เสนอแนะเท่าที่จะเสนอได้ เพราะเราไม่ได้ขัดแย้งหรือมีปัญหาอะไรกับผู้บริหารของมั่นคง การเสนอซื้อหุ้นครั้งนี้ ก็ได้บอกไปว่า ถ้าบริษัทศุภาลัยเข้าไปถือหุ้น มีส่วนในการเสนอแนะก็จะช่วยให้บริษัทมั่นคงเคหะการ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ผลประกอบการก็จะดีขึ้น ทุกอย่างก็บอกอย่างตรงไปตรงมา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการซื้อหุ้นไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีอำนาจในการบริหารก็ไม่เป็นไร รูปแบบการลงทุนในบริษัท มั่นคงเคหะการหลังจากนี้ก็คงเหมือนที่บริษัทเข้าไปลงทุนในประเทศออสเตรเลีย บางโครงการเราก็ถือหุ้นแค่ 25% ก็ไม่มีปัญหาให้เขาบริหารไปไม่เป็นไร

การเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท มั่นคงเคหะการ ก็คงจบแบบเป็นทางการแค่นี้ แต่แบบไม่เป็นทางการก็ให้ติดตาม การช่วงชิงหุ้นในตลาดกันต่อไป งานนี้คงมีเรื่องต้องให้ติดตามกันตอนต่อไป

จับตาราคาบ้าน-ดบ.ขาขึ้นป่วนกำลังซื้อ
ส่วนที่ยังไม่จบคือบทสัมภาษณ์ ของนายประทีป ที่ทีมงาน  Baania  เก็บมาฝาก โดยขอเริ่มกันที่ ภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็เข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 กันแล้ว ประธานกรรมการบริหาร ศุภาลัย มองตลาดในช่วง 4 เดือนสุดท้ายนี้อย่างไร?

"ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 ศุภาลัยก็ยังขายดีขึ้น ดูแล้วภาพรวมก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ตอนนี้ยอดขายเพิ่มขึ้นตลอด และคาดว่าจะมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนตลาดรวมก็ไม่ได้ด้อยลงตลาดโตขึ้น เพียงแต่ว่า ยังโตไม่ได้มากเท่าไหร่ แต่ปีนี้ตลาดโตขึ้นแน่นอน แม้ว่าราคาที่ดินจะปรับขึ้นมามาก ขณะที่ดอกเบี้ยก็จะค่อยๆ ปรับขึ้น แต่ยอดขายก็ยังไม่ตก สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวล จนกว่าจะอีก 1-2 ปี ถ้าดอกเบี้ยขึ้นไปมากกว่านี้ และบ้านราคาขึ้นไปสูงกว่านี้ กำลังซื้อจะตามไปทันหรือไม่ ซึ่งก็ต้องไปดูกันตอนนั้น แต่ปัจจุบันกำลังซื้อคนยังตามทันอยู่"

ส่วนโครงการที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กำลังผลักดันอันได้แก่ โครงการบ้านล้านหลัง เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสซื้อบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ นายประทีปมองว่า ถ้าจะให้เอกชนช่วยพัฒนาโครงการบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ยอมรับว่าคงพัฒนาได้ยาก ถ้าจะพัฒนาได้รัฐบาลคงต้องยื่นมือเข้าช่วยสนับสนุน

ยกตัวอย่างเช่น  ช่วยในเรื่อของการลดภาษี เพื่อให้ต้นทุนลดลงไป ไม่เช่นนั้นก็ทำกันไม่ได้ง่ายๆ เพราะปัจจุบันราคาที่ดินพัฒนาทาวน์เฮาส์ระดับกลางในกรุงเทพฯอยู่ที่ 2 ล้านบาท ดังนั้นบ้านราคาไม่เกินล้านบาทคงทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน หรือไม่ก็ปรับราคาเป็นไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือต้องได้ที่ดินฟรีมาพัฒนา ส่วนที่ดินของกรมธนารักษ์ที่จะนำมาเปิดให้พัฒนาก็ทำได้ในลักษณะของการเช่าไม่ได้ขายขาด

เร่งขยายลงทุน/สนประมูลที่บางซื่อ-เพลินจิต
วกมาเข้าเรื่องของ ศุภาลัย กันบ้าง นายประทีป บอกว่า ช่วงนี้ ศุภาลัยอยู่ระหว่างการขยายการลงทุนออกไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะต่างจังหวัดราคาที่ดินยังถูก และมีกำลังซื้อรออยู่ โดยขณะนี้จะขยายจังหวัดเพิ่ม ล่าสุดได้ไปซื้อที่ดินที่อยุธยา  ส่วนที่เชียงรายพัฒนาไป 3 โครงการแล้ว เตรียมจะขยายเพิ่มเป็นโครงการที่ 4 โดยยังเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ ซึ่งได้เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว

"ขอเล่าย้อนตอนไปตอนที่จะเปิดโครงการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนที่เราจะตัดสินใจเปิดโครงการก็ไปสำรวจตลาดกัน มี ไตรเตชะ (กรรมการผู้จัดการ ศุภาลัย ในปัจจุบัน) ไปดูด้วยกลับมาก็มาสรุปให้ฟังว่า ที่นครศรีธรรมราชยังไม่น่าซื้อที่ดิน เพื่อลงทุน เพราะว่า โครงการที่มีอยู่ในตลาดขณะนั้นขายได้เดือนละ 1-2 หลังเท่านั้นเอง กำลังซื้อก็น้อย ขายก็ยาก แต่ที่ตัดสินใจซื้อที่ดิน เพราะราคาที่ยังไม่แพง และมั่นใจว่าตลาดไปได้ และพอเราไปซื้อทีมาทำโครงการกลับขายได้มากกว่าสุราษฏร์ธานีถึงเท่าตัว อย่างที่เชียงรายก็เช่นกัน ที่ดินยังไม่แพง และขายดีกว่าที่เราคิด และคนชอบซื้อบ้านหลังใหญ่ด้วย" นายประทีปกล่าว

ส่วนการลงทุนต่างประเทศ นอกจากการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ประเทศออสเตรเลียแล้ว ก็ยังดูอยู่หลายประเทศ เช่น  ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ ซึ่งการไปลงทุนในต่างประเทศก็คงจะเข้าไปร่วมกับท้องถิ่นเช่นเดียวกับที่ทำที่ประเทศออสเตรเลีย และนอกจากการขยายลงทุนในต่างจังหวัด และต่างประเทศแล้ว ในพื้นที่กทม. และปริมณฑล นายประทีป ยังบอกว่า ก็ยังให้ความสนใจซื้อที่ดินแปลงใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เหมือนที่เคยชนะประมูลซื้อที่ดินสถานทูตออสเตรเลียที่ถนนสาทรมาพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ศุภาลัย ไอคอน สาทร

"ถ้ามีใครเปิดประมูลที่ดินแปลงใหญ่ ศุภาลัยก็พร้อมจะเข้าไปร่วมประมูลด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่ค่อยมี รอดูที่ดินของรัฐที่จะนำมาประมูล เช่น ที่ดินบางซื่อ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือที่ดินขององค์กรโทรศัพท์ ที่อยู่ตรงเพลินจิต (ปัจจุบันเป็นศูนย์บริการลูกค้า ทีโอที เพลินจิต) ก็สนใจ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่" นายประทีปกล่าวในท้ายที่สุด  

ก่อนจบขอฝากข้อมูลศุภาลัยเป็นการปิดท้ายที่ท้ายสุด ในครึ่งแรกของปี 2561 ศุภาลัยมีรายได้แล้ว 11,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่คาดว่าจะมีรายได้ 26,000 ล้านบาท และเป้าหมายยอดขายทั้งปีที่ 33,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกสามารถทำยอดขายไปได้แล้ว 17,700 ล้านบาท

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร