Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีปลูกผักสลัดไว้กินไว้ขาย ปลูกง่ายแบบพืชสวนครัว

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“วิธีปลูกผักสลัด” เรื่องที่ทำได้ไม่ยากและด้วยกระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงมาก หลายคนเริ่มหันมาใส่ใจดูแลตัวเองด้วยการกินผักมากขึ้น แต่ผักตามท้องตลาดนั้นค่อนข้างมีสารพิษมาก และหากเป็นแบบออแกนิคก็ค่อนข้างราคาสูง ดังนั้นการปลูกไว้กินเองจึงเป็นอีกทางเลือกที่ประหยัดและปลอดภัย

1. เตรียมดิน

สำหรับการปลูกผักสลัดนั้นสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมคืออุปกรณ์ เมล็ดพันธุ์, ปุ๋ย, ดินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อผักสลัด โดยสิ่งเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสินค้าเกษตรทั่วไป 

  1. อุปกรณ์ในการเพาะกล้าอาจจะเลือกเป็น ฟองน้ำ, แกลบหรือหากอยากปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์ ก็เลือกใช้เพอร์ไลท์กับเวอร์มิคูไลท์แทนได้ โดยจะมีคุณสมบัติในการยึดเกาะรากพืชและช่วยในการอุ้มน้ำ
  2. สำหรับเมล็ดพันธุ์ผักสลัดจะมีให้เลือก 2 แบบนั่นคือ เคลือบดินและไม่เคลือบดิน ในส่วนของแบบเคลือบดินจะมีราคาแพงกว่า เชื่อกันว่ามีโอกาสงอกได้มากกว่าแบบไม่ที่เคลือบ
  3. ส่วนของปุ๋ยหรือแร่ธาตุอาหารสำหรับผักสลัดก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน โดยการปลูกในดินและแบบไฮโดรโปรนิกส์จะต้องการสูตรปุ๋ยที่ต่างกันเล็กน้อย

เตรียมดิน

2. เพาะต้นกล้า

สำหรับการเพาะต้นกล้าในการปลูกผักสลัดแบบง่ายๆ นั้น ให้นำเมล็ดพันธุ์ลงไปแช่ในแก้วที่ใส่น้ำสะอาด แช่ทิ้งไว้ 1 คืนหรือไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เมื่อเมล็ดลอยแล้วให้เทน้ำทิ้ง จากนั้นนำเมล็ดมาเพาะต่อในกระดาษทิชชูที่เปียกน้ำ นำไปวางใส่กล่องหรือถาดที่เตรียมไว้เพื่อเตรียมเพาะอีก 8 ชั่วโมงเมื่อรากของผักสลัดงอกแล้วให้นำไปปลูกในภาชนะที่เตรียมไว้ใส่ต้นกล้า 

เพาะต้นกล้า

3. ผักสลัดที่ได้รับความนิยม

ในอดีตผักสลัดอาจนิยมอยู่ไม่กี่พันธุ์เท่านั้น แต่ด้วยกระแสรักสุขภาพมาแรงมาก ในบ้านเราจึงเริ่มเห็นผักสลัดหลากหลายมากขึ้น โดยผักสลัดที่นิยมในปัจจุบันมีถึง 9 พันธุ์ด้วยกัน ได้แก่

  1. เรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักสลัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะมีวิตามินและสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ลักษณะเป็นสีแดงเข้มแซมเขียวขอบใบหยัก มีกากใยสูง ผักเรดโอ๊คไม่เหมาะกับการนำไปปรุงร้อน เพราะว่าจะทำให้เหี่ยวดูไม่น่ากิน นิยมทานสด ๆ แบบปรุงสลัดและใช้จัดจาน
  2. กรีนโอ๊ค (Green Oak) ผักสลัดพันธุ์นี้เป็นที่นิยมในไทยมาก มีลักษณะเป็นใบหยักสีเขียวสดทั้งก้านและใบ รสชาติคล้ายเรคโอ้คแต่จะออกหวานมากกว่า เหมาะกับการนำไปทำเป็นสลัดและจัดจานให้ดูน่ากิน นอกจากมีไฟเบอร์สูงแล้วยังมีวิตามินบีและซีสูงมากอีกด้วย
  3. ผักคอส กรีนคอสหรือผักกาดโรเมน (Cos or Romaine) ผักพันธุ์นี้นิยมมากในสหรัฐอเมริกา โดยจะเรียกว่าโรเมน ลักษณะเป็นใบสีเขียวค่อนข้างเรียวยาว แตกต่างจากพันธุ์อื่นตรงที่ไม่ค่อยกรอบทนต่อความร้อนได้ดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ  ส่วนใหญ่นิยมนำไปทำซีซาร์สลัดเพราะมีรสชาติออกหวาน
  4. บัตเตอร์เฮด (Butterhead) หรือบางคนเรียกว่า ‘ผักกาดบอสตัน’ เป็นพันธุ์ที่มีความกรอบและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ลักษณะใบมีสีเขียวคล้ายกับกรีนโอ๊ค แต่ส่วนปลายจะกลมมนกว่า ส่วนใหญ่นิยมกินแบบสด ๆ เช่น นำไปใส่ในแฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น
  5. ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก (Frillice Ice Berg) เป็นพันธุ์ที่นิยมในสหรัฐอเมริกาและหลัง ๆ ในไทยก็เริ่มนิยมแล้วเช่นกัน ลักษณะเป็นใบสีเขียวอ่อนแซมเข้ม ต้นเป็นพุ่มอวบดูแปลกตาแต่มีความกรอบ รสชาติหวานเล็กน้อย เหมาะกับการนำไปทำสลัดเพราะไม่ค่อยทนต่อความร้อน
  6. ผักกาดหอมคริปส์เฮดหรือผักกาดแก้ว (Iceberg or Crisphead) น่าจะเป็นพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดในไทย เพราะนอกจากนำไปทำเป็นผักสลัดแล้ว ยังใช้ประกอบอาหาร จัดจาน หรือกินเสริมคู่กับกับข้าวได้หลายอย่าง สำหรับผักกาดแก้วมีธาตุเหล็กสูงช่วยบำรุงเลือดและมีสรรพคุณทำให้หลับสบาย นิยมกันแบบสด ๆ เพราะมีความกรอบอมหวาน
  7. ผักกาดหอม (Green Coral) ผักกาดหอมเป็นอีกพันธุ์ที่นิยมนำมาทำสลัด ลักษณะเป็นใบหยักสวยสีเขียวสด อุดมไปด้วยวิตามินนานาชนิด มีคุณค่าทางอาหาร นอกจากทำสลัดแล้วยังนิยมนำไปใส่ในเบอร์เกอร์ และกินสดกับหมูย่างเกาหลี
  8. ผักกาดหอมแดง (Red Coral) ลักษณะคล้าย ๆ กับผักกาดหอมแต่เป็นสีแดง รสชาติไม่ต่างกันแต่จะให้แคลอรีที่ต่ำกว่า นิยมกินคู่กับอาหารประเภทปิ้งย่างและเป็นเครื่องเคียงเมนูยำ ไม่ค่อยนิยมนำมาทำสลัดมากนักเพราะสีไม่สดเท่าผักกาดหอม
  9. ผักร็อคเก็ต หรือผักอารูกูล่า (Rocket Arugula) เป็นพันธุ์ที่ลักษณะค่อนข้างต่างจากผักสลัดประเภทอื่น โดยจะเป็นทรงรีมีใบเรียวยาว สำหรับผักอารูกูล่ามีแคลเซียมสูง รสชาติออกเผ็ดซ่าไม่หวานเหมือนพันธุ์อื่น ๆ นิยมนำมาผัดกับน้ำมันมะกอกกินกับชีส

ผักสลัดที่ได้รับความนิยม

4. ลงดิน

สำหรับวิธีปลูกผักสลัดลงดินให้มีรสชาติดีนั้น จะต้องมีสถานที่ในการปลูกที่ดี และใช้ปุ๋ยในอัตราส่วนที่เหมาะสม การปลูกนั้นทำได้หลากหลายวิธี ทั้งการปลูกลงดิน, ปลูกในโรงเรือน, ปลูกในแปลง และปลูกในอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พอหาได้ การเลือกพื้นที่ปลูกควรคำนึงถึงต้นทุนและเป้าหมายเป็นหลัก หากว่าปลูกเพื่อครัวเรือน สามารถใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายปลูกเพื่อกินเองด้วยปริมาณที่พอเหมาะและการดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้ผักสลัดที่ปลูกมีรสชาติที่ดีได้เช่นกัน

ลงดิน

5. ไฮโดรโปนิกส์

ถือเป็นกระแสที่กำลังมาแรงมาก เพราะขั้นตอนน้อยใช้ พื้นที่ไม่เยอะและปลูกได้ในภาชนะที่หลากหลาย ได้ผักสด กรอบอร่อย ปลอดสารพิษ มักนิยมปลูกลงในฟองน้ำ, ท่อ PVC, ขวดพลาสติก หรือภาชนะอื่น ๆ ที่อุ้มน้ำได้ ส่วนขั้นตอนการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ จะต้องเพาะเมล็ดก่อนเหมือนวิธีการปกติ แต่จะต่างตรงที่เมื่อเมล็ดงอกแล้ว จะนำไปปลูกต่อในภาชนะที่เตรียมเอาไว้ ไม่ได้ปลูกลงดินนั่นเอง

ไฮโดรโปนิกส์

6. ปลูกในขวดพลาสติก

ในการปลูกผักสลัดลงบนภาชนะขวดพลาสติกจะใกล้เคียงกับวิธีปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ นั่นคือใช้ขวดพลาสติกนำมาเจาะรู พร้อมเตรียมเมล็ดพันธุ์และกระดาษทิชชู เริ่มแรกในการเพาะเมล็ดให้ใช้กล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมาเตรียมใส่ไว้ นำทิชชูที่ชุ่มน้ำมาวางเมล็ดพันธุ์เพื่อเตรียมปลูก จากนั้นปิดฝาให้สนิทป้องกันแสงส่องเมล็ดพันธุ์ ในระหว่างที่เพาะเมล็ดให้ค่อยหมั่นสังเกตความชุ่มชื้นของน้ำ อย่าให้กระดาษทิชชูแห้ง ให้เติมน้ำหล่อเลี้ยงไว้เสมอ เพราะหากขาดน้ำ เมล็ดจะไม่งอก ขั้นตอนในการเพาะเมล็ดนั้นมีความสำคัญมาก หากว่าทำไม่ดีรากอาจจะไม่งอก ทำให้อาจเสียเวลามาเพาะใหม่ ส่วนอุปกรณ์ในการปลูกสามารถหาได้จากร้านที่ขายสินค้าการเกษตร

ปลูกในขวดพลาสติก

7. การดูแล

การดูผลพืชผลถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะหากปลูกไว้เฉย ๆ ไม่รดน้ำไม่ใส่ปุ๋ยก็จะทำให้ผักสลัดเฉาตาย ดังนั้นวิธีดูแลผักให้เจริญเติบโตคือ เมื่อใส่ปุ๋ยเรียบร้อยแล้วให้รดน้ำจนชุ่ม นำผักสลัดไปไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างนี้หมั่นตรวจหน้าดินอยู่เสมอ หากดูว่าดินขาดน้ำให้รีบรดน้ำ อย่าให้หน้าดินแห้ง ผักสลัดเป็นพืชที่ต้องการน้ำดังนั้นควรรดวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น

ต้นผักสลัดจะงอกหลังจากหยอดเมล็ดไปแล้ว 3-5 วัน และเมื่อครบ 7 วัน ใบจะงอกออกมา ให้นำถุงดินไปวางไว้ในที่ที่มีแสงแดดเข้าถึง จนกระทั่งครบ 40–50 วัน ผักจะโตเต็มที่พร้อมเก็บนำไปกินหรือขายแล้วแต่สะดวก เมื่อผักงอกแล้วควรเก็บในทันทีเพราะหากทิ้งไว้อาจทำให้ผักแก่มีรสชาติขมและแข็ง ในช่วงที่ผักกำลังเจริญเติบโตนั้นควรให้สารอาหารด้วยปุ๋ยทุกสัปดาห์ เพื่อให้ต้นผักเติบโตอย่างแข็งแรงไม่เป็นโรค

การดูแล

สำหรับ ‘วิธีปลูกผักสลัด’ นั้นก็มีอยู่หลากหลายแนวทาง ซึ่งสามารถปลูกแบบเป็นครัวเรือนกินเอง และยังต่อยอดเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย หากมีพื้นที่หน้าบ้านพอที่จะปลูกได้ก็สามารถลองทำเป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งโดยปลูกครั้งละมากๆ เพื่อคุ้มค่าเวลาเก็บเกี่ยว เพราะว่าผักสลัดปลูกง่ายโตไว ใช้เวลาไม่นาน หากว่าใครเปิดธุรกิจร้านอาหารอยู่ ก็สามารถปลูกเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำกับข้าวได้ เป็นการประหยัดงบประมาณได้มากทีเดียว 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร