Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีซ่อมปั๊มน้ำแบบไม่ต้องพึ่งช่างประปา

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ปั๊มน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกหนึ่งชนิดที่จำเป็นต้องมีในทุกบ้าน และต้องใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักปั๊มน้ำกันก่อนว่ามีแบบใด และมีลักษณะการทำงานแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อใช้ไปในระยะยาว ปั๊มน้ำอาจเกิดการชำรุดได้เป็นเรื่องปกติ วันนี้ Baania จึงขอนำเสนอประเภทและ วิธีซ่อมปั๊มน้ำ แบบไม่ต้องพึ่งช่างประปา ให้ลองไปทำตามกัน

ประเภทของปั๊มน้ำ

มี 4 ประเภท ได้แก่ 

1. ปั๊มน้ำอัตโนมัติ

เป็นปั๊มน้ำบ้านทั่วไป ทำงานเปิดและปิดแบบอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น เมื่อเปิดก๊อกน้ำตัวปั๊มน้ำจะทำงานทันที และเมื่อใช้เสร็จจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติเช่นกัน โดยปั๊มอัตโนมัติมีทั้งหมด 2 แบบคือ 

  • ปั๊มมีถังแรงดันอากาศ

ข้อดี: มีอายุการใช้งานที่นานกว่า

ข้อเสีย: ตัวถังทำด้วยเหล็ก และเคลือบด้วยสารป้องกันสนิม แต่เมื่อใช้ไปในระยะยาวอาจเกิดสนิมขึ้นจนต้องเปลี่ยนถังน้ำใหม่

  • ปั๊มแรงดันคงที่

ข้อดี: เปิดน้ำได้พร้อมกัน 4 จุด และแรงดันน้ำไหล่เท่ากันสม่ำเสมอ

ข้อเสีย: ไม่เหมาะสำหรับการดูดน้ำตรงจากท่อประปา ควรดูดออกมาจากถังน้ำ

2. ปั๊มน้ำกึ่งอัตโนมัติ

ลักษณะการทำงานจะคล้ายกับปั๊มน้ำแบบอัตโนมัติ เพียงแต่ต้องเปิดและปิดปั๊มน้ำด้วยตนเองเท่านั้น จึงไม่เป็นที่นิยมมากเท่ากับแบบอัตโนมัติ

3. ปั๊มหอยโข่ง

ปั๊มน้ำชนิดนี้มีการใช้งานค่อนข้างแพร่หลายเหมาะกับงานเกษตรกรที่ต้องดึงน้ำไปเก็บไว้ในถัง และดึงน้ำขึ้นไปบนอาคารสูง หรืออาจจะสูบจากแท็งก์ บ่อน้ำ และหัวจ่ายน้ำ เพราะสามารถสูบน้ำได้ในปริมาณมากด้วยแรงส่งสูงถึง 1-2 แรงม้า แต่ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ ดังนั้นจึงเหมาะกับการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

4. ปั๊มจุ่มหรือปั๊มแช่

หรืออีกชื่อที่คุ้นเคยกันดีเรียกว่า โดโว่ ใช้สำหรับการสูบน้ำออก มีกำลังส่งต่ำ และสามารถสูบน้ำได้ในปริมาณมาก โดยมีให้เลือกใช้หลากหลายขนาด หากต้องการดึงน้ำเร็ว ให้เลือกแบบที่วัตต์สูง แต่ถ้าต้องการดึงน้ำในปริมาณน้อยให้เลือกที่วัตต์ต่ำ การใช้ปั๊มจุ่มหรือแช่ ไม่ควรใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 7 ชั่วโมง มิเช่นนั้นเครื่องจะทำงานหนักจนเกินไป

ปั๊มจุ่มหรือปั๊มแช่มีทั้งหมด 2 แบบด้วยกันคือ แบบมีลูกลอย เมื่อน้ำสูงขึ้นลูกลอยจะลอยขึ้น และเมื่อน้ำหมดลูกลอยจมลงปั๊มน้ำจะตัดการทำงานอัตโนมัติ ส่วนแบบไม่มีลูกลอย เมื่อน้ำสูงขึ้นหรือลดลงต้องเปิดและปิดสวิตซ์ด้วยตนเอง

ประเภทของปั๊มน้ำ
อาการของปั๊มน้ำที่ควรระวัง และสาเหตุ 

เมื่อปั๊มน้ำเกิดอาการขัดข้องไม่ว่าจะเป็นน้ำรั่ว ปั๊มน้ำไม่ตัด ปั๊มน้ำมีเสียงผิดปกติ หรือทำงานผิดปกติ ผู้ใช้งานควรรู้ถึงสาเหตุ คอยสังเกตการทำงาน และควรรู้ข้อควรระวังในการใช้งานเพื่อไม่ให้ปั๊มน้ำเสียหาย หรือชำรุดได้ง่าย ดังนี้

  • การใช้งานในระยะเวลานานจนเกินไป เมื่อใช้งานอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดพัก เครื่องปั๊มน้ำจะทำงานหนักจนเกินขีดจำกัด มอเตอร์จึงเกิดความร้อน สร้างความเสียหายให้กับปั๊มน้ำได้
  • สังเกตจังหวะการปั๊มน้ำ เมื่อเครื่องปั๊มน้ำทำงานไม่เป็นจังหวะ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าเครื่องเริ่มทำงานผิดปกติ อาจจะกำลังมีปัญหาจากความดัน หรือมีรอยรั่วภายในตัวเครื่อง
  • แผงวงจรไฟฟ้าเสียหาย อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไฟกระชาก ไฟดับ หรือไฟช็อต ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าภายในเครื่องปั๊มน้ำเสียหาย และไม่ทำงาน
  • แรงดันของน้ำไม่สม่ำเสมอกัน ปัญหานี้มักเกิดขึ้นเมื่อคนในบ้านใช้น้ำในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นอาการปกติที่น้ำจะมีแรงบ้าง และเบาบ้างในบางครั้ง
  • ปั๊มน้ำสั่นหรือมีเสียงดัง อาจจะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตัวเครื่อง และใบพัด ฟุตวาล์วน้ำอุดตัน หรือสนิมขึ้นในตลับลูกปืนเพราะมีน้ำรั่วเข้าไป
  • ปั๊มน้ำตัดบ่อย มีอาการเดินและหยุดเครื่องบ่อยครั้ง สาเหตุเกิดจากอากาศภายในถังความดันน้อยเกินไป
  • เปิดก๊อกแล้วน้ำไม่ไหล สาเหตุอาจเกิดขึ้นจากปลั๊กไฟหลวม สายไฟขาด น้ำในแหล่งจ่ายหมด ส่งผลให้มอเตอร์ร้อนจัดจนไหม้
  • ปั๊มน้ำหยุดทำงานถาวร ระบบไฟฟ้าอาจมีปัญหา ตัวมอเตอร์บวม หรือทำงานหนักไปจนช็อตไหม้ โดยปกติแล้ว ปั๊มน้ำที่มีคุณภาพจะมีระบบป้องกันความเสียหายอย่างถาวรของมอเตอร์ 1 ครั้ง ซึ่งราคาปั๊มน้ำจะสูงกว่าแบบปกติทั่วไป

ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่รู้ตัว ควรหมั่นตรวจเช็คสภาพของเครื่องปั๊มน้ำอยู่เป็นประจำ เพื่อความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีอยู่เสมอ หากเสียหาย หรือมีอาการผิดปกติรุนแรง ควรเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบสาเหตุ และซ่อมปั๊มน้ำให้กลับสู่สภาวะการใช้งานที่ปกติ

อาการวิธีซ่อมปั๊มน้ำ

เมื่อปั๊มน้ำทำงานผิดปกติ หรือเกิดอาการชำรุด สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อซ่อมแซมเครื่องปั๊มน้ำด้วยตนเองในเบื้องต้น มีดังนี้

1. สังเกตมิเตอร์เป็นอันดับแรก

ให้ตรวจสอบดูว่ามิเตอร์มีการจ่ายน้ำเข้ามาอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีน้ำจ่ายเข้าไปแสดงว่าผิดปกติ 

2. เช็คระบบท่อ

หากการมีน้ำจ่ายเข้าปกติ ให้ดูระบบท่อว่าเปิดวาล์วน้ำทิ้งไว้หรือไม่ และเช็คการรั่วซึม หรือการแตกของท่อเพื่อทำการซ่อมแซมต่อไป

3. ตรวจสอบตัวเครื่องปั๊มน้ำ

ถ้ามิเตอร์และท่อปกติดี สิ่งที่เสียหายอาจเกิดจากเครื่องปั๊มน้ำ ซึ่งส่วนมากจะมาจากเพรสเซอร์สวิตซ์ (อุปกรณ์ที่ใช้สั่งงาน) 

4. ก่อนการตรวจเช็คควรถอดปลั๊กก่อนทุกครั้ง

เพื่อปิดระบบจ่ายไฟที่เข้าสู่ตัวเครื่องปั๊มน้ำทั้งหมด ก่อนจะตรวจสอบอาการผิดปกติในขั้นตอนต่อไป

5. ซ่อมเพรสเซอร์สวิตซ์  

ในส่วนนี้จะมีสายไฟอยู่ 2 เส้น ให้ตัดสายไฟหนึ่งเส้นออก และนำเทปพันสายไฟมาพันสายไฟเส้นนั้นไว้ จากนั้นลองเสียบปลั๊ก และดูว่าเพรสเซอร์สวิตซ์ทำงานปกติไหม ถ้ายังไม่ทำงาน ให้ซื้อเพรสเซอร์สวิตซ์มาเปลี่ยนใหม่ทันที

หมายเหตุ: ถ้าซื้อมาเปลี่ยนแล้วยังไม่สามารถทำงานได้ อาจมีสาเหตุมาจากระบบใบพัดปั๊มแกนรูด ซึ่งถือว่าเสียหายค่อนข้างหนัก แนะนำให้ซื้อใหม่เพราะราคาซ่อม และราคาปั๊มน้ำใหม่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน

6. หมั่นตรวจเช็คท่อและเครื่องสุขภัณฑ์ในบ้าน

ตรวจดูอย่างสม่ำเสมอว่าท่อหรือสุขภัณฑ์ในบ้านมีรอยรั่วหรือไม่ เพราะถ้ามีรอยรั่วเท่ากับว่าปั๊มน้ำไม่ตัด และทำงานอยู่ตลอดเวลา

7. เปิดฝาครอบปั๊มน้ำระบายความร้อน  

ควรเปิดฝาทิ้งไว้ให้ตัวมอเตอร์เย็นลงก่อนสักระยะ ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีระบบตัดไฟอัตโนมัติเมื่อมอเตอร์ร้อนเกินไป หลังจากเปิดฝาจนเย็นลงแล้วให้ลองเปิดใช้งานดูอีกครั้ง

วิธีซ่อมปั๊มน้ำจะเห็นได้ว่าการวิธีการซ่อมปั๊มน้ำสามารถทำด้วยตัวเองได้ไม่ยาก เพียงแค่คอยสังเกตการทำงาน หมั่นดูแล ตรวจเช็คเครื่องปั๊มน้ำที่ใช้งานอยู่ในบ้านอย่างสม่ำเสมอ คอยเฝ้าระวังอาการผิดปกติ หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่เป็นประจำในทุก ๆ บ้าน อย่าลืมดูแลเครื่องปั๊มน้ำป้องกันการเสียหายที่รุนแรง และเพื่อยืดอายุการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร