Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

วิธีการใช้ถังดับเพลิง รู้ไว้อุ่นใจกว่าในเวลาฉุกเฉิน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

หลายคนอาจรู้สึกว่าการซ้อมหนีไฟในแต่ละปีนั้นเป็นเรื่องไกลตัวเสียเหลือเกิน แต่จริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคาดคิด ซึ่งปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ป้องกันภัยต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตัดไฟรั่ว เครื่องตรวจจับควัน เครื่องตรวจไฟฟ้าลัดวงจร และอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือ วิธีการใช้ถังดับเพลิง ที่ควรมีติดบ้านหรืออาคารไว้ เผื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จะได้สามารถหยิบมาใช้ได้ทันท่วงที

1. หากเกิดเพลิงไหม้ควรทำอย่างไร

เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ สิ่งแรกที่ควรทำคือตั้งสติและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้ เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณเตือนเกิดเหตุเพลิงไหม้ให้รีบลุกออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ห้ามหนีขึ้นที่สูง ให้ลงไปที่ชั้นล่างเพราะควันไฟจะลอยขึ้นด้านบน หากไม่สามารถออกจากอาคารได้ให้กลับเข้าไปในห้องแล้วปิดประตู นำผ้าชุบน้ำเปียกมาอุดตามซอกประตูและหน้าต่างไว้ หากจำเป็นต้องหนีฝ่าควันไฟให้หมอบคลานใกล้พื้น ห้ามวิ่งออกไปเด็ดขาด ห้ามหายใจทางปากแต่ควรหายใจสั้นๆทางจมูก ห้ามใช้ลิฟท์ ให้ออกทางบันไดหนีไฟ นอกจากนี้ควรหาผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูกหรือห่มตัวเพื่อป้องกันการสูดควันไฟและเพื่อป้องกันจากความร้อน

หากเกิดเพลิงไหม้

2. สังเกตประเภทของไฟ

สำหรับชนิดของไฟ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท แต่เหตุไฟไหม้แต่ละประเภทที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้สามารถเอาน้ำดับได้ทุกอย่าง รวมถึงถังดับเพลิงตามอาคารต่างๆ ก็ไม่สามารถใช้ดับไฟได้ทุกประเภทเช่นกัน เราจึงต้องทราบก่อนว่าไฟที่เกิดขึ้นเป็นไฟประเภทใด เริ่มจากไฟ Class A เป็นไฟไหม้ทั่วไป เกิดจากไฟไหม้บนผิววัสดุที่ติดไฟได้ทั่วไป อาทิ เสื้อผ้า พลาสติก ยาง เป็นต้น โดยไฟประเภทนี้สามารถใช้น้ำธรรมดาในการดับไฟได้ รวมไปถึงใช้ถังดับเพลิงทั่วไปในการกับไฟได้เช่นกัน

ถัดมาเป็นไฟ Class B ไฟประเภทนี้จะไหม้บนผิวของเหลวที่สามารถติดไฟได้ง่าย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฮโดรคาร์บอน หรือสารเคมีละลายประเภทต่างๆ ไปจนถึงก๊าซไวไฟซึ่งอาจนำไปสู่การระเบิดได้ ในการดับไฟประเภทนี้ต้องหาต้นตอของแหล่งเชื้อเพลิงจากนั้นจึงค่อยทำการดับไฟ เช่น ท่อน้ำมันรั่ว ท่อก๊าซรั่ว เป็นต้น ซึ่งการดับไฟชนิดนี้ต้องใช้โฟมดับเพลิงและถังดับเพลิงทั่วไปก็สามารถใช้ได้ แต่มีข้อระวังควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำดับไฟประเภทนี้เพราะอาจทำให้ไฟขยายวงกว้างมากขึ้น

 ไฟ Class C เป็นไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งไฟประเภทนี้ไม่สามารถใช้น้ำธรรมดาดับได้เพราะอาจทำให้เกิดไฟช็อต แต่ต้องหาทางตัดแหล่งไฟฟ้าให้ได้เสียก่อน เมื่อทำการตัดแหล่งไฟฟ้าแล้วก็สามารถใช้ถังดับเพลิงดับไฟประเภทนี้ได้ทันที

ปิดท้ายด้วยไฟ Class D คือไฟไหม้บนสสารที่เป็นโลหะ อาทิ อลูมิเนียม โซเดียม เป็นต้น ซึ่งไฟประเภทนี้จะมีอุณหภูมิสูงมากถึงขนาด 1000 องศาเซลเซียสได้เลยทีเดียว และมีเปลวไฟน้อยจนสังเกตเห็นได้ยาก การใช้น้ำดับไฟประเภทนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาด การดับไฟชนิดนี้มีวิธีเดียวคือใช้สารดับไฟที่เหมาะสมซึ่งอาจเป็น ผงโซเดียมคลอไรด์ หรือ ผงแกรไฟต์ ในการดับไฟ

สังเกตประเภทของไฟ

3. วิธีเลือกซื้อถังดับเพลิง

หลังจากรู้จักประเภทของไฟไปแล้ว ทีนี้ลองมาดูประเภทของถังดับเพลิงกันบ้าง เพื่อเอาไว้จะได้ใช้ถังดับเพลิงที่ถูกประเภทกับเหตุไฟไหม้ได้อย่างถูกต้อง เริ่มจากถังชนิดผงเคมี เป็นถังที่เราคุ้นเคยที่สุดเพราะตัวถังมีสีแดง สามารถดับไฟได้แทบทุกประเภท มีราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่าย มีข้อเสียในเรื่องของการใช้งานที่อาจฟุ้งกระจาย มีคราบเปื้อนเหมือนฝุ่นผงขาว มีอายุการใช้งานประมาณ 5-10 ปี 

ต่อมาเป็นถังชนิดผงเคมีสูตรน้ำ ตัวถังจะมีสีเขียว เมื่อฉีดแล้วจะระเหยไป ไม่ทิ้งคราบสกปรกเหมือนถังสีแดง สามารถดับไฟประเภท A B C ได้ แต่จะค่อนข้างมีราคาสูง เหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก 

นอกจากนี้ยังมีถังชนิดที่บรรจุสารฮาโลตรอน ตัวถังจะมีสีน้ำเงิน ใช้สำหรับการดับไฟได้ดีไม่ว่าจะเป็นสื่อนำไฟฟ้า แต่ราคาจะสูงกว่าถังชนิดผงเคมีแห้ง เหมาะกับการมีติดบ้านไว้ เพราะสามารถดับไฟที่เกิดจากการทอดอาหารในครัวเรือนได้ และหากมีการเปิดใช้งานแล้วก็สามารถเก็บไว้ใช้ต่อได้ 

มาต่อที่ถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอดไดออกไซด์ ถังชนิดนี้จะมีสีแดง ปลายกระบอกจะใหญ่เป็นพิเศษ เมื่อฉีดออกมาจะมีไอเย็นจัดเหมือนน้ำแข็งแห้ง สามารถลดความร้อนของไฟได้ ไม่ทิ้งคราบผงสกปรก เหมาะกับการใช้งานในห้องเครื่องจักรกล เป็นต้น และถังชนิดสุดท้ายเป็นถังชนิดบรรจุโฟม ตัวถังมีสีเงิน เมื่อฉีดออกมาแล้วจะเป็นฟองโฟมปกคลุมเชื้อเพลิงไหม้ สามารถดับไฟประเภท A B  เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม ใช้ดับเชื้อเพลิงพวกทินเนอร์ และสารระเหยติดไฟ

วิธีเลือกซื้อถังดับเพลิง

4. ตำแหน่งที่ควรติดตั้งถังดับเพลิงในบ้าน

ในส่วนของการติดตั้งถังดับเพลิงในบ้านเราต้องพิจารณาพื้นที่ก่อนว่าส่วนใดที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดเหตุไฟไหม้ได้บ้าง จะได้ติดตั้งถังดับเพลิงที่ถูกประเภท โดยมักจะยึดติดกับผนังให้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1 เมตร แต่ไม่เกิน 1.50 เมตร เพราะจะได้สามารถหยิบใช้งานได้ง่าย

ตำแหน่งที่ควรติดตั้ง

5. วิธีใช้ถังดับเพลิง

สำหรับวิธีการใช้ถังดับเพลิงหลายๆคนน่าจะเคยใช้ตอนเวลาซ้อมหนีไฟกันมาบ้างแล้ว ซึ่งวิธีการใช้ก็ไม่ยาก โดยหากเกิดเหตุไฟไหม้ ให้เข้าไปทางเหนือลมโดยห่างจากฐานของไฟประมาณ  2 – 3  เมตร จากนั้นให้ดึงสลักหรือลวดที่รั้งวาล์วออก ยกหัวฉีดปากกรวยชี้ไปที่ฐานของไฟ ทำมุมประมาณ  45  องศา ทำการบีบไกเพื่อเปิดวาล์วให้ก๊าซพุ่งออกมา จากนั้นให้ฉีดไปตามทางยาว  และกราดหัวฉีดไปช้าๆ จนแน่ใจว่าไฟดับสนิทจึงค่อยๆฉีดต่อไปด้านหน้า

วิธีใช้ถังดับเพลิง

6. วิธีตรวจสอบถังดับเพลิง

ในการตรวจสอบถังดับเพลิง อาจทำป้ายกำกับแขวนไว้ที่ตัวถังว่าได้มีการตรวจสอบครั้งสุดท้ายเมื่อใด วิธีการตรวจสอบว่าถังดับเพลิงอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ให้สังเกตจากเข็มมาตรวัดของถังดับเพลิง หากเข็มชี้ที่ช่องสีเขียวแสดงว่าพร้อมใช้งาน แต่หากเข็มเอียงไปทางซ้ายแสดงว่าไม่มีแรงดัน ต้องรีบนำไปเติมแรงดันใหม่ ซึ่งการตรวจสอบนี้ควรทำประจำทุกเดือน

วิธีตรวจสอบถังดับเพลิง

7. ถังดับเพลิงมีอายุใช้งานกี่ปี

สำหรับอายุการใช้งานของถังดับเพลิงแต่ละชนิด ส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 5 ปี ส่วนชนิดฮาโลตรอนวัน (ถังสีเขียว) และชนิดก๊าซ CO2 จะมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี ถึงแม้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะไม่มีการใช้งาน แต่ก็ต้องส่งไปตรวจสอบและบรรจุใหม่อยู่เสมอ

อายุใช้งาน

วิธีการใช้ถังดับเพลิง นั้นสำหรับใครที่อาศัยอยู่บ้านหรือที่พักอาศัยทั่วไปอย่างทาวน์เฮ้าส์หรือทาวน์โฮม แม้จะไม่มีการบังคับให้ติดตั้งถังดับเพลิงไว้ภายในบ้านแต่ก็ควรมีติดไว้อย่างน้อยบ้านละ 1 ถัง เพื่อความปลอดภัยและอุ่นใจหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที 

นอกจากนี้ควรหมั่นตรวจเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอยู่เสมอ รวมถึงก๊าซหุงต้มภายในครัวเรือนเพื่อลดโอกาสเกิดเหตุที่ไม่คาดคิด

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร