Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รู้จักโครงสร้างหลังคาให้เหมาะกับบ้านของเรา

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การสร้างบ้านสำหรับอยู่อาศัยที่ดีนั้น ต้องแข็งแรง มั่นคง และปลอดภัย รากฐานโครงสร้างใต้ดินของบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญในลำดับแรก นอกเหนือจากงานโครงสร้างบนดินแล้ว ก็ต้องนับว่าโครงสร้างหลังคามีความสำคัญกับบ้านไม่แพ้กัน โครงสร้างหลังคาก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ หลายชนิด มีคุณสมบัติและลักษณะของการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป แล้วเราจะเลือกอย่างไรดีว่า โครงสร้างหลังคาแบบไหน ที่เหมาะกับบ้านของเรา ดังนั้นเราจึงนำข้อมูลสำคัญ 3 ส่วนมาให้ท่านได้ศึกษาไปพร้อมกัน

1. องค์ประกอบต่าง ๆ ของหลังคา

ก่อนจะรู้จักกับโครงสร้างหลังคา ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักของหลังคาแบบต่าง ๆ นั้น เราต้องรู้ก่อนว่าหลังคามีองค์ประกอบต่าง ๆ อีกมากมาย เราจะมาดูกันว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ของหลังคาประกอบด้วยส่วนใดบ้าง และแต่ละส่วนทำหน้าที่อย่างไร

1. แป (Batten) เป็นไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า ที่วางอยู่บนจันทัน ทำหน้าที่รองรับกระเบื้อง หรือวัสดุมุงหลังคาประเภทต่าง ๆ การวางแปจะวางเว้นระยะห่างตามขนาดมาตรฐานของกระเบื้องหรือวัสดุที่ใช้มุงหลังคา แปจะวางขนานกับแนวอกไก่ นอกจากแปจะช่วยรับน้ำหนักแล้ว ยังช่วยในการจัดแนวกระเบื้องให้ตรง ไม่เกิดการบิดเบี้ยว เรียกอีกอย่างว่าระแนง

2. อเส (Stud Beam) ทำหน้าที่คลายคาน รับน้ำหนักจากจันทัน โดยจะวางพาดอยู่ริมด้านนอกบนหัวเสาของโครงสร้างหลังคา ใช้เป็นฐานยึดรัดหัวเสาคอยรับแรงของหลังคาให้ถ่ายน้ำหนักลงสู่เสา อเสจะมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่าเป็นทรงหลังคาแบบไหน

3. จันทัน (Rafter) จะวางลาดเอียงไปตามลักษณะของหลังคา วางอยู่บนอเสและอกไก่ มีหน้าที่รองรับน้ำหนักของแป ที่รับน้ำหนักของกระเบื้องมุงหลังคา โดยทั่วไปแล้วจันทันจะวางเว้นระยะประมาณ 1 เมตร แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดมาตรฐานของวัสดุที่ใช้มุงหลังคาและระยะของแป

4. อกไก่ (Ridge) ทำหน้าที่คล้ายคาน แต่วางอยู่ส่วนกลางด้านบนของหลังคา และวางพาดอยู่บนดั้งของหลังคาอีกที อกไก่จะทำหน้าที่รับน้ำหนักของจันทันทุกตัว ไล่ไปตามแนวสันของหลังคา อกไก่ต้องเป็นส่วนที่มีความแข็งแรงมาก

5. ขื่อ (Tie Beam) จะวางอยู่บนหัวเสาในทิศทางเดียวกับการวางจันทัน ขื่อทำหน้าที่รับน้ำหนักของแรงดึงยึดหัวเสาโดยตรงจากดั้งในแนวคาน เพื่อถ่ายน้ำหนักลงสู่ตัวเสา และยังทำหน้าที่ช่วยยึดโครงผนัง ขื่อนิยมเรียกอีกอย่างว่าสะพานรับดั้ง

6. ดั้ง (King Post) จะวางอยู่แนวสันของหลังคาตามแนวตั้งฉาก ดั้งจะอยู่บนขื่อทำหน้าที่รองรับน้ำหนักจากอกไก่ แทนเสาจริงของอาคาร โดยจะมีอกไก่วางพาดไปตามแนวของสันหลังคา

7. เชิงชาย (Eaves) จะวางปิดหัวจันทัน ปิดริมโครงสร้างยาวตลอดแนวหลังคา โดยจะวางพาดบนหัวแปและด้านล่างของครอบหลังคา นอกจากช่วยให้หลังคาดูสวยงามเรียบร้อยแล้ว ยังช่วยกันลมไม่ให้ปะทะกับหลังคาโดยตรง ช่วยกันฝนไม่ให้ย้อนเข้าโครงสร้างหลังคา หรือฝ้าเพดาน และกันนกไม่ให้เข้ามาทำรังใต้หลังคา เชิงชายจะนิยมใช้ไม้จริงเพื่อความสวยงาม มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าทับเชิงชาย หรือปั้นลม

8. ตะเข้สัน (Hip Rafter ) จะวางพาดหลังคาทั้งสี่มุม ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากจันทันทุกตัว โดยตะเข้สันมีขนาดหน้าตัดความสูงและระดับจะเท่ากันกับจันทัน เพื่อให้ระนาบอยู่ในระดับเดียวกันทั้งสี่ด้านของหลังคา ตะเข้สันมักใช้กับหลังคาทรงปั้นหยาเป็นหลัก

9. ตะเข้ราง (Valley Rafter) มีหน้าที่รับน้ำหนักจากจันทันเช่นเดียวกัน โดยจะวางลาดเอียงของหลังคา 2 ด้าน ที่มาประกบกัน ตะเข้รางจะทำหน้าที่เป็นเหมือนรางน้ำ เพื่อระบายน้ำออกจากหลังคา ตะเข้รางเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างหลังคาทรงปั้นหยา

องค์ประกอบ

2. โครงสร้างของหลังคาชนิดต่าง ๆ

ปัจจุบันโครงสร้างหลังคาทำมาจากวัสดุหลาย ๆ ชนิด รวมถึงมีโครงหลังคาแบบสำเร็จรูปให้เลือกใช้งานด้วย ซึ่งโครงหลังคาแต่ละแบบก็มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่โครงสร้างหลังคาที่ได้รับความนิยมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามวัสดุที่ใช้งาน คือโครงสร้างหลังคาเหล็ก และโครงสร้างหลังคาไม้

1. โครงสร้างหลังคาเหล็ก เป็นโครงสร้างที่ได้รับความนิยมใช้งานกับการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนทั่วไป เพราะมีความแข็งแรง ทนทาน เหนียว คงรูปได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องปลวก รวมทั้งยังมีรูปแบบ ขนาด และความหนา ให้เลือกใช้งานได้ตรงตามความเหมาะสมมากมาย โครงสร้างหลังคาเหล็ก มีทั้งที่เป็นเหล็กกลม และเหล็กตัว C โครงสร้างหลังคาเหล็กตัว C เหมาะกับการใช้งานกับกระเบื้องลอนคู่ และยังมีโครงสร้างหลังคาเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีป้องกันสนิม ที่มีอายุการใช้งานคงทนถาวรกว่าเหล็กแบบทั่วไปให้เลือกใช้

โครงสร้างหลังคาเหล็ก

2. โครงสร้างหลังคาไม้ เป็นวัสดุที่เคยได้รับความนิยมสูงมาก่อน เพราะการขึ้นโครงสร้างหลังคาไม้นั้นทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่ปัจจุบันไม้ค่อนข้างหายากและมีราคาแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นไม้เนื้อแข็ง หรือไม้เนื้อดีที่มีคุณภาพแข็งแรงทนทาน ก็ยิ่งมีราคาแพง แต่โครงสร้างหลังคาไม้ก็ยังมีการใช้งานอยู่ โดยเฉพาะกับบ้านไม้ เพราะการเชื่อมต่อระหว่างไม้ด้วยกันทำได้สะดวก ไม้ที่จะทำโครงสร้างหลังคานั้น ควรผ่านการอบหรือผึ่งแห้ง และไม่มีรอยร้าวบิดงอ และควรทาน้ำยากันปลวกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โครงสร้างหลังคาไม้ควรใช้ไม้เนื้อแข็งที่มีขนาด 2 X 6 หรือ 2 X 8 นิ้ว ตามการรับน้ำหนัก

โครงสร้างหลังคาไม้

3. โครงสร้างหลังคาเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์ เป็นโครงสร้างหลังคาอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม กัลวาไนซ์เป็นกรรมวิธีเคลือบผิวเหล็กด้วยอะลูมิเนียมซิงค์ หรือแมกนีเซียมซิงค์ เพื่อป้องกันการเกิดสนิม เหล็กเคลือบกัลป์วาไนซ์จะมีความแข็งแรงทนทานกว่าเหล็กแบบทั่วไป แถมยังมีคุณสมบัติทนความชื้นได้ดีกว่า ปลอดจากสนิมยาวนานมากกว่า 50 ปี การใช้งานทำได้สะดวกรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมาทาสีกันสนิม ช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าแรง แต่โครงสร้างหลังคาเหล็กเคลือบกัลป์วาไนซ์ มีราคาสูงกว่าโครงหลังคาเหล็ก

หลังคาเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์

3. ข้อแตกต่างระหว่างโครงสร้างหลังคาทั่วไปกับโครงสร้างหลังคาสำเร็จรูป

ปัจจุบันโครงสร้างหลังคาสำเร็จรูปผลิตออกมาเพื่อรองรับการทำงานที่รวดเร็ว และตอบโจทย์ความหลากหลายของรูปทรงหลังคา และวัสดุมุงหลังคาหลาย ๆ ชนิด การติดตั้งโครงสร้างหลังคาแบบทั่วไปกับโครงสร้างหลังคาสำเร็จรูป ก็ยังมีรายละเอียดขั้นตอนการทำงานที่แตกต่างกัน

โครงสร้างหลังคาเหล็กแบบทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งเหล็กรูปพรรณจากร้านวัสดุก่อสร้าง ตามรูปแบบที่จะใช้งาน ทั้งเหล็กกลม เหล็กกล่อง หรือเหล็กตัว C ขนาดความยาวของเหล็กตามมาตรฐานทั่วไป จะมีความยาว 6 เมตร และขนาดความหนาที่ต่างกันตามประเภทการใช้งาน การเลือกเหล็กที่ดีควรดูเหล็กที่แสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. ASTM  หรือ BSI เพื่อให้ได้เหล็กที่มีคุณภาพมาใช้งาน โครงสร้างหลังคาเหล็กแบบทั่วไปนี้ก็ต้องมาประกอบ มาเชื่อมเหล็กขึ้นรูปที่หน้างาน และต้องใช้ช่างที่ติดตั้งและเชื่อมเหล็กที่มีฝีมือในการประกอบโครงสร้าง ที่สำคัญก่อนการใช้งานต้องทาสีกันสนิมอย่างน้อย 2 ครั้ง โครงสร้างหลังคาเหล็กแบบนี้ มีความยืดหยุ่นกับหน้างานสูง เพราะสามารถดัดแปลงได้ตามความต้องการ
โครงสร้างหลังคาเหล็กสำเร็จรูป หรือเรียกอีกอย่างว่าโครงสร้างหลังคากัลป์วาไนซ์ โครงสร้างหลังคาแบบนี้จะถูกผลิตและตัดขนาดตามสั่งให้พอดี เพื่อนำมาประกอบใช้งานจริงที่หน้างานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว การประกอบทำได้ด้วยการยึดตะปูเกลียวแต่ละส่วนเข้ากันตามแบบ ใช้งานได้ทันที เพราะเป็นเหล็กเคลือบกันสนิมมาจากโรงงาน แต่โครงสร้างหลังคาเหล็กสำเร็จรูป จะมีลักษณะเป็นโครงถัก ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องรูปทรงหลังคา จึงเหมาะจะใช้งานกับบ้านรูปทรงหลังคาแบบทั่วไปเท่านั้น และการประกอบโครงสร้างหลังคาเหล็กสำเร็จรูป ต้องใช้ช่างที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้วยเช่นกัน

การเลือกใช้โครงสร้างหลังคาเหล็กแบบทั่วไป มีความหลากหลายในการติดตั้งใช้งาน และยังมีราคารวมค่าแรงและค่าวัสดุ ที่ถูกกว่าโครงสร้างหลังคาเหล็กสำเร็จรูป ที่แม้จะได้คุณภาพมาตรฐานมากกว่าก็ตาม แต่ทั้งนี้การเลือกใช้โครงสร้างหลังคาประเภทใด ก็อยู่ที่ว่าจะตอบโจทย์การใช้งานของเราได้มากน้อยแค่ไหนเป็นสำคัญ

ข้อแตกต่าง

การเลือกโครงสร้างหลังคาแบบไหนในการสร้างบ้านนั้น นอกจากจะต้องเลือกให้เหมาะกับลักษณะการใช้งานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความแข็งแรงทนทาน และปลอดภัยเป็นสำคัญ และที่ลืมไม่ได้คือขึ้นอยู่กับงบประมาณเป็นหลักด้วย แต่โครงสร้างหลังคาบ้านนั้นเป็นการสร้างครั้งเดียวแล้วอยู่กันอย่างยาวนาน การเลือกวัสดุที่ได้คุณภาพมาตรฐานที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เพราะหากเราประหยัดงบประมาณมากจนเกินไป ได้โครงสร้างหลังคาที่ไม่ดี รับน้ำหนักหลังคาไม่ดี 

ที่มาภาพประกอบ : http://eng.sut.ac.th

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร