Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

10 รอยร้าวในบ้าน อันตรายแค่ไหนและแก้ไขอย่างไร

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

บ้านร้าวคือสิ่งที่เจ้าของบ้านทุกคนไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับบ้านตัวเอง แต่หลายบ้านนั้นหลีกเลี่ยงปัญหาบ้านร้าวไม่พ้น ซึ่งรอยร้าวต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของบ้านมีสาเหตุที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่รอยร้าวในบ้านบอกได้คือว่าบ้านหลังนั้นกำลังมีปัญหาอย่างแน่นอน แต่กำลังมีปัญหาอะไรนั้น ติดตามได้ในบทความนี้

1. รอยร้าวขอบประตูหน้าต่าง

ขอบประตูหน้าต่างเป็นหนึ่งในจุดที่พบรอยร้าวของบ้านได้บ่อย เนื่องจากบริเวณวงกบประตูหน้าต่างนั้นมีแรงดึงสูงมาก ทำให้เกิดการกระจายแรงของผิวปูนที่ฉาบไว้ไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดรอยร้าวบริเวณขอบประตูหน้าต่าง ซึ่งตามหลักที่ถูกต้อง ในขณะการก่อสร้างบริเวณวงกบประตูหน้าต่าง ต้องใส่เหล็กกรงไก่เพื่อให้วงกบกับผนังนั้นอยู่ติดกัน และฉาบปูนในบริเวณนั้นหนาจนเกินไป

รอยร้าวที่ขอบประตูหน้าต่าง นั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งที่ตามมาก็เพียงแค่น้ำรั่วซึมเข้าบ้าน วิธีการแก้ไขคือถ้าไม่เป็นรอยร้าวขนาดใหญ่ให้ใช้ซิลิโคนหรือยาแนวมาอุด แต่ถ้ารอยร้าวมีขนาดใหญ่ให้ทำการรื้อประตู หรือหน้าต่างออกและทำการติดตั้งใหม่ให้ถูกวิธี

ขอบประตูหน้าต่าง

2. รอยร้าวที่เสา

รอยร้าวที่บริเวณเสาในลักษณะที่เป็นรอยร้าวแตกลึก รอยร้าวแบบนี้จะเห็นได้ชัดและทำให้เสาเสียรูปทรงอย่างชัดเจน การเกิดรอยร้าวที่เสาในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากการคำนวณขนาดของเสาเพื่อรับน้ำหนักผิดพลาด หรือการใช้งานอาคารผิดประเภทนั่นเอง ทำให้เสารับน้ำหนักเกินจนคอนกรีตกะเทาะออกมา

รอยร้าวในลักษณะนี้จัดว่าเป็นรอยร้าวที่มีอันตรายมาก วิธีการแก้ไขคือต้องเรียกผู้เชี่ยวชาญ หรือวิศวกรมาดูแลโดยด่วน ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเอง หรือใช้ช่างทั่วไปมาแก้ไขได้โดยเด็ดขาด

รอยร้าวที่เสา

3. รอยร้าวแบบแตกลายงา

ปัญหาบ้านร้าวโดยที่มีรอยร้าวแบบแตกลายงานั้นถือว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่พบได้แทบทุกบ้าน ส่วนมากพบภายนอกบ้าน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากโครงสร้างของบ้านที่ผิดปกติ แต่เกิดจากผสมปูนฉาบที่ไม่ได้สัดส่วน ช่างไม่มีคุณภาพ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปปูนเจอกับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างกลางวัน และกลางคืนปูนจึงหดตัวลงผนังบ้านจึงเกิดรอยร้าวแบบแตกลายงาขึ้นมา

วิธีแก้ไขสำหรับรอยร้าวแบบแตกลายงาคือการใช้ปูนแต่งผิวทำการฉาบบาง ๆ ประมาณสองรอบจนปิดรอยแตกได้สนิท จากนั้นก็ใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบแล้วทาสีทับลงไป

รอยร้าวแบบแตกลายงา

4. รอยร้าวแนวดิ่ง

รอยร้าวแนวดิ่งบริเวณกลางผนัง ส่วนมากจะเป็นรอยร้าวที่เกิดจากด้านบนลงล่าง เป็นรอยร้าวที่อยู่ตรงกลางผนัง ซึ่งรอยร้าวในรูปแบบนี้เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักด้านบนมากเกินไป หรือเกิดจากการคำนวณความสามารถในการรับน้ำหนักของคานผิดพลาดตั้งแต่แรก จึงส่งผลให้เกิดรอยร้าวแนวดิ่ง

วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคือต้องดูว่าชั้นบนเหนือรอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้นมีสิ่งของซึ่งมีน้ำหนักวางอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้ลองย้ายไปวางไว้ที่อื่นเพื่อให้คานอันนั้นไม่ต้องรับน้ำหนักมากเกินความจำเป็น หรือย้ายของที่มีน้ำหนักมากออกจากชั้นบนเลยก็ได้ แล้วก็ซ่อมแซมรอยร้าว ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาเสริมคานให้สามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น

รอยร้าวแนวดิ่ง

5. รอยร้าวแนวทแยงมุม

รอยร้าวแนวทแยงมุมถือว่าเป็นรอยร้าวที่อันตรายมากอย่างหนึ่ง เพราะรอยร้าวแบบนี้คือการที่บ้านกำลังบอกว่ามีการทรุดตัวที่ไม่เท่ากันที่ฐานรากของบ้าน ธรรมชาติของบ้านนั้นจะทรุดตัวลงอยู่แล้ว แต่เป็นการทรุดลงตรง ๆ แบบเท่ากัน การที่เกิดรอยร้าวแบบทแยงมุมนั้นหมายความว่าฐานรากของบ้านด้านใดด้านหนึ่งนั้นมีการทรุดตัวมากกว่าอีกด้าน ปัญหารอยร้าวแบบนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่สามารถทำได้เอง

รอยร้าวแนวทแยงมุม

6. รอยร้าวรูปตัวยู

รอยร้าวรูปตัวยูนั้นเป็นรูปแบบของรอยร้าวที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ท้องคาน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คานนั้นรับน้ำหนักมากเกินไป หรือคำนวณความสามารถในการรับน้ำหนักของคานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบ เมื่อตัวคานได้รับน้ำหนักที่มากเกินไปทับลงมาจึงเกิดรอยร้าวในลักษณะรูปตัวยูใต้ท้องคานขึ้นมา

วิธีการแก้ไขคล้ายกับการแก้ไขผนังร้าวในแนวดิ่ง คือนำสิ่งของที่มีน้ำหนักออกให้หมด แล้วดูว่ามีการร้าวเพิ่มเติมหรือไม่ แล้วจึงติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาทำการแก้ไขต่อไป

รอยร้าวรูปตัวยู

7. รอยร้าวบริเวณรอยต่อเสาและคาน

รอยร้าวบริเวณรอยต่อเสาและคาน เป็นรอยร้าวที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยรอยร้าวบริเวณรอยต่อจะมีลักษณะเฉียงจากเสาขึ้นไปหาคาน รอยร้าวชนิดนี้เกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากเกินไป รอยร้าวบริเวณรอยต่อเสาและคานจัดว่าเป็นรอยร้าวที่มีอันตรายร้ายแรงมาก การแก้ไขคือรีบติดต่อผู้เชี่ยวชาญ และย้ายออกจากบ้านหลังนั้นให้เร็วที่สุด จะกลับเข้ามาอาศัยได้อีกครั้งเมื่อบ้านได้รับการซ่อมแซมอย่างสมบูรณ์

รอยร้าวบริเวณรอยต่อเสาและคาน

8. รอยแตกร้าวบนพื้น

รอยแตกร้าวบนพื้นนั้นเป็นรอยร้าวที่อยู่บนพื้นโดยขนานไปกับตัวผนัง รอยร้าวลักษณะนี้บ่งบอกได้ถึงการทรุดตัวของฐานรากที่ไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอันตรายกับโครงสร้างของบ้าน เนื่องจากเสาเข็มในฝั่งที่ไม่ทรุดตัวถูกดึงให้ออกจากตำแหน่งเดิม เมื่อมีรอยแตกร้าวบนพื้นบ้านเกิดขึ้นให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน

รอยแตกร้าวบนพื้น

9. รอยร้าวบนเพดาน

รอยร้าวบนเพดานในลักษณะที่เป็นการร้าวจากกึ่งกลางเข้าไปหาเสาทั้งสี่ต้น จัดว่าเป็นรอยร้าวที่อันตรายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งรอยร้าวแบบนี้เกิดขึ้นจากเสาและคานรับน้ำหนักมากเกินไป มักเกิดกับบ้านที่ไม่มีคานกลางมารองรับน้ำหนักของเพดาน ใช้เพียงเหล็กเสริมแรงสองทางเป็นตัวรับน้ำหนัก  ทางแก้ของรอยร้าวบนเพดานคือเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักออกไปให้หมด แล้วติดต่อผู้เชี่ยวชาญมาแก้ไขทันที

รอยร้าวบนเพดาน

10. รอยร้าวกลางคาน

รอยร้าวกลางคานนั้นเกิดจากการที่คานรับน้ำหนักมากจนเกินไป ซึ่งส่วนมากจะเกิดขึ้นจากการคำนวณโครงสร้างที่ผิดพลาด จัดว่าเป็นรอยร้าวที่อันตรายมากเพราะในกรณีที่ร้ายแรง บ้านสามารถแยกออกจากกันเป็นสองส่วนได้เลย การแก้ปัญหารอยร้าวกลางคานนั้นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

รอยร้าวกลางคาน

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่า บ้านร้าวในลักษณะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านนั้นล้วนมีสาเหตุเกิดจากการก่อสร้างที่ผิดพลาด ซึ่งการซ่อมแซมรอยร้าวที่เกิดขึ้นนั้น สำหรับรอยร้าวบางรูปแบบ เจ้าของบ้านสามารถทำเองหรือจ้างช่างมาทำให้ก็ได้ แต่รอยร้าวในหลาย ๆ รูปแบบนั้น ช่างไม่สามารถซ่อมได้ ต้องติดต่อผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรโครงสร้างให้เข้ามาประเมินความเสียหายและแนวทางในการซ่อมแซม

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร