Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

บัวบก พืชสมุนไพรโบราณมากสรรพคุณ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ถ้าเอ่ยแค่ว่าบัวบก หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหู เพราะส่วนมากจะคุ้นเคยกับคำว่า “ใบบัวบก” กันมากกว่า ซึ่งที่จริงนั้นใบบัวบกก็คือใบของต้นบัวบกนั่นเอง บัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณต่างๆ มากมาย โดยบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับพืชสมุนไพรโบราณประเภทนี้อย่างละเอียด เพื่อให้รู้ว่าบัวบกนั้นมีสรรพคุณมากกว่าแค่แก้ช้ำใน

1. ทำความรู้จักบัวบก

บัวบก เป็นพืชสมุนไพรที่พบมากในประเทศเขตร้อน รวมไปถึงประเทศไทยและแถบเอเชีย แต่ในปัจจุบันมีการปลูกบัวบกกระจายไปทั่วโลก คนไทยรู้จักการใช้บัวบกเข้าตำรับยาเป็นสมุนไพรมาตั้งแต่สมัยโบราณ สรรพคุณเบื้องต้นของบัวบกที่เรารู้จักกันดีคือนำมาใช้ทำยาแก้ช้ำใน แต่ในความเป็นจริงแล้วบัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมายกว่านั้น

บัวบกเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ดอก ใบ ราก ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น มีการนำส่วนต่าง ๆ ของบัวบกไปใช้หลากหลายวิธี หลากหลายสรรพคุณ ซึ่งการนำแต่ละส่วนของบัวบกไปใช้ประโยชน์ล้วนแล้วแต่ความต้องการและความเหมาะสมของผู้ใช้นั่นเอง

บัวบก

2. บัวบกมีกี่สายพันธุ์?

อย่างที่ทราบกันดีว่าบัวบกนั้นเป็นพืชสมุนไพรที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย โดยบัวบกนั้นมีลักษะเป็นพืชล้มลุก เลื้อยไปตามพื้นดิน มีความยาวของต้นได้มากกกว่า 1 เมตร และสามารถแตกแขนงไปได้เรื่อย ๆ ใบมีสีเขียวทรงกลมคล้ายใบบัว ขอบใบหยัก ดอกมีสีขาว มีอายุยืนหลายปีต่างจากพืชล้มลุกทั่วไป พบได้มากบริเวณที่ชื้นแฉะ หรือบริเวณริมน้ำ

ส่วนสายพันธุ์ของบัวบกที่พบมากในไทยจะมี 2 สายพันธุ์คือบัวบกไทย และบัวบกศรีลังกา สามารถสังเกตความแตกต่างของสองสายพันธุ์นี้ได้ด้วยการดูที่ขนาดของลำต้น หรือที่เรียกว่า “ไหล”  ไหลของบัวบกไทยจะมีปล้องที่ห่างกว่า รวมไปถึงมีขนาดใหญ่กว่าบัวบกศรีลังกา นอกจากไหลที่มีขนาดแตกต่างกันแล้วนั้น ใบของบัวบกไทยยังมีขนาดใหญ่กว่าใบบัวบกศรีลังกาอีกด้วย

สำหรับบัวบกสายพันธุ์ไทยนั้นมีการแยกย่อยไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค อย่างเช่นภาคเหนือเรียกว่า ผักหนอก ภาคใต้เรียกว่า ผักแว่น เป็นต้น ส่วนการแยกสายพันธุ์นั้น บัวบกมีสายพันธุ์แยกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พันธุ์ระยอง พันธุ์ฉะเชิงเทรา  พันธุ์นครปฐม  พันธุ์หนองบัวลำภู  พันธุ์นครศรีธรรมราช หรือสายพันธุ์อื่น ๆ ตามชื่อจังหวัดนั้น ๆ เป็นต้น

สายพันธุ์

3. คุณค่าทางโภชนาการ

เมื่อบัวบกขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่มากคุณประโยชน์ ดังนั้นคุณค่าทางโภชนาการของบัวบกย่อมมีมากมายอย่างแน่นอน ซึ่งสารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของบัวบกนั้นได้แก่ บราโมซัยด์ บรามิโนซัยด์ ไตรเตอพีนอยด์ มาดิแคสโซซัยด์ ซึ่งสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบของร่างกาย   

นอกจากนี้ยังมี กรดมาดิแคสซิค วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม เหล็ก ฟอสฟอรัส รวมไปถึงกลุ่มกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย อย่างเช่น แอสพาเรต กรดกลูตามิก เซรีน ทรีโอนีน อะลานีน ไลซีน ฮีสทีดิน รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการ

4. การเตรียมตัวปลูก

เมื่อบัวบกมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายมากมายเช่นนี้ ทำให้หลาย ๆ คนอยากปลูกบัวบกไว้ในบริเวณบ้านของตนเอง ซึ่งการปลูกบัวบกด้วยตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในความเป็นจริงนั้น ก่อนที่จะปลูกพืชอะไรก็ตาม ต้องมีการเตรียมตัว และเตรียมพร้อมในเรื่องของสถานที่ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งก็คือการหาพื้นที่ในบ้านที่เหมาะสมสำหรับการปลูก ต้องมีการเตรียมดินก่อนปลูก และการเตรียมพันธุ์ของบัวบกนั่นเอง

ธรรมชาติของบัวบกนั้นเป็นไม้เลื้อยไปกับดิน การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกบัวบกควรเป็นพื้นที่ว่าง ไม่มีไม้อื่นอยู่ใกล้ ๆ ไม่มีน้ำขัง และไม่มีแดดจัด การเตรียมดินเพื่อปลูกบัวบกนั้นทำเหมือนการปลูกพืชทั่วไปคือพรวนดินให้ร่วนซุย ผสมปุ๋ยคอกลงไปคลุกกับดินให้ทั่ว ตากดินไว้ประมาณ 7 – 10 วันเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคในดิน จากนั้นก็นำพันธุ์บัวบกซึ่งจะเป็นเมล็ด หรือเป็นไหลมาทำการปลูกได้เลย

เตรียมตัวปลูก

5. วิธีการปลูก

เมื่อเตรียมพื้นที่ในการปลูกบัวบกเรียบร้อยแล้ว มาถึงขั้นตอนในการปลูกบัวบกให้เจริญงอกงามกันบ้าง การปลูกบัวบกสามารถใช้ได้ทั้งเมล็ด และไหล ซึ่งการใช้ไหลปลูกจะทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้เร็วกว่าการใช้เมล็ดปลูก ลดขั้นตอนในการเพาะจากเมล็ดให้เป็นต้นกล้าได้อีกด้วย  
 
การปลูกบัวบกด้วยเมล็ดนั้นควรเริ่มต้นด้วยการเลือกเมล็ดจากผู้ผลิตที่ไว้ใจได้ หรือติดต่อเกษตรกรที่ปลูกบัวบกได้โดยตรง เมื่อได้เมล็ดมาแล้ว ให้นำมาเพาะกล้าลงในกระบะหรือกระถาง เมื่อต้นกล้าแข็งแรง มีอายุได้ประมาณ 15 – 20 วัน ก็ย้ายลงไปปลูกในพื้นที่ที่เตรียมดินไว้

ส่วนการปลูกบัวบกด้วยการปักชำหรือการปลูกด้วยไหล ก็ใช้เพียงไหลของบัวบกประมาณ 1 ข้อที่มียอดอ่อนและรากเริ่มงอก ควรเลือกไหลที่มีลักษณะสมบูรณ์ ก้านอวบแข็งแรง นำไปปักในภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อให้ต้นนั้นมีความแข็งแรง เมื่อผ่านไปประมาณ 7 – 14 วันก็สามารถย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่ต้องการได้  

การดูแลบัวบกให้ได้ผลผลิตตามต้องการนั้นไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแค่หมั่นดูแลรดน้ำประมาณวันละ 1 – 2 ครั้งโดยไม่ให้มีน้ำขัง ส่วนเรื่องของแสงแดดนั้น บัวบกเป็นพืชที่ไม่ชอบแดดจัด ชอบแสงแดดรำไร ชอบร่มเงา การปลูกบัวบกจึงไม่ควรตั้งไว้กลางแจ้ง ควรไว้ในที่ซึ่งโดนแดดอ่อน ๆ เป็นบางเวลา หรือจะทำร่มโดยการขึงแสลนให้บัวบกก็ได้ ส่วนปุ๋ยก็ให้ปุ๋ยคอกประมาณเดือนละครั้ง แต่ต้องหมั่นดึงวัชพืชที่ขึ้นออกด้วย

วิธีการปลูก

6. การเก็บเกี่ยว

บัวบกนั้นถ้ามีการดูแลอย่างถูกวิธีจะสามารถเก็บผลผลิตได้เวลา 60 – 90 วันหลังปลูก วิธีการเก็บบัวบกคือการใช้เสียมขนาดเล็กเซาะใต้รากแล้วดึงออกมาทั้งเถา เมื่อนำขึ้นมาแล้วต้องล้างน้ำให้สะอาด หรือจะตัดแค่ยอดเพื่อเก็บเฉพาะใบก็ได้ จากนั้นก็สามารถนำบัวบกไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
 
เมื่อเก็บผลผลิตบัวบกไปแล้วนั้น บัวบกที่เหลืออยู่จะแตกแขนงออกมาใหม่ทำให้สามารถเก็บไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดอายุ โดยดูแลต่อได้ด้วยวิธีการดูแลตามปกติ อายุของบัวบกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3- 4 ปี แต่ถ้ามีการบำรุงดูแลต่อเนื่องอย่างดี บัวบกสามารถเก็บเกี่ยวได้มากกว่า 5 ปีจากการปลูกแค่ครั้งเดียว

การเก็บเกี่ยว

7. สูตรน้ำบัวบก

บัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่มีชื่อเสียงในเรื่องการนำมาทำเป็นน้ำสมุนไพรอยู่แล้ว ซึ่งน้ำบัวบกนั้นอุดมไปด้วยประโยชน์ต่าง ๆ ที่ดีต่อร่างกาย การทำน้ำสมุนไพรบัวบกก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่มีขั้นตอนซับซ้อน ส่วนประกอบหลัก ๆ ที่ต้องใช้คือ น้ำสะอาด ใบบัวบก ใบเตย เกลือป่น น้ำเชื่อม หรือน้ำตาลทราย ด้วยส่วนประกอบเพียงแค่นี้ก็สามารถทำน้ำสมุนไพรได้ด้วยตัวเอง

วิธีการทำน้ำสมุนไพรบัวบกนั้นมีขั้นตอนดังนี้

  1. ใส่น้ำลงในภาชนะที่ต้องการต้มน้ำให้ร้อนพร้อมกับใบเตย ทิ้งไว้ให้เย็น 
  2. จากนั้นนำใบบัวบกที่เตรียมไว้มาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นท่อนเล็กๆ แล้วค่อยๆ ใส่ลงไปในเครื่องปั่นทีละน้อย โดยในการปั่นต้องเติมน้ำที่ต้มกับใบเตยไปเรื่อยๆ 
  3. ปั่นจนใบบัวบกละเอียดเป็นน้ำ จากนั้นนำมากรองเพื่อแยกกากออก 
  4. ใส่เกลือ น้ำตาล หรือน้ำเชื่อม ปรุงรสตามใจชอบ

8. บัวบกในการประกอบอาหาร

การนำบัวบกมาประกอบอาหารที่เราคุ้นเคยกันดีคือ การใช้เป็นผักแนมน้ำพริก หรือเป็นผักแกล้มสำหรับเมนูต่าง ๆ อย่างเช่นลาบ หรืออาหารที่มีรสจัด แต่ในความเป็นจริงแล้ว บัวบกสามารถเป็นส่วนประกอบอาหารของภูมิภาคต่าง ๆ ได้หลากหลายเมนู ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าวใส่ใบบัวบก คุกกี้บัวบก ไข่เจียวบัวบก ยำใบบัวบก ใบบัวบกชุบแป้งทอด แกงใบบัวบกใส่หมู เป็นต้น  

เมนูที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันซึ่งมีการนำใบบัวบกมาเป็นส่วนประกอบ คงหนีไม่พ้น “ยำใบบัวบก” ที่จัดว่าเป็นเมนูเพื่อสุขภาพ เนื่องจากสรรพคุณในการบำรุงร่างกายนั่นเอง ส่วนประกอบของเมนูยำใบบัวบกคือ ใบบัวบก กระเทียม หอมแดง มะเขือเทศ พริกสด มะนาว เกลือ ผักชี น้ำตาล งา ถั่วลิสงคั่ว อาจจะเพิ่มเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่ลวกสุกแล้วได้ตามต้องการ

ขั้นตอนในการทำเมนูยำใบบัวบกง่าย ๆ 

  1. นำผักทุกชนิดที่เตรียมไว้ หรือจะใส่ผักอื่น ๆ เพิ่มเติมก็ได้ นำไปล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ใส่ภาชนะรอไว้ 
  2. ใส่เนื้อสัตว์ที่ลวกไว้ ปรุงน้ำยำให้ได้รสตามใจชอบ
  3. นำไปคลุกกับผักต่าง ๆ รวมถึงใบบัวบก 
  4. โรยด้วยผักชี และถั่วลิสงคั่ว เพียงแค่นี้ก็จะได้ยำใบบัวบกเมนูเด็ดมากสรรพคุณมารับประทาน

อีกหนึ่งเมนูที่ขึ้นชื่อสำหรับบัวบกก็คือแกงใบบัวบกใส่หมู ซึ่งเป็นเมนูอร่อย ๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่ายๆ 

  1. ต้มน้ำให้เดือด ใส่พริกแกงเผ็ดที่เตรียมไว้ลงไป 
  2. เมื่อน้ำเดือด ใส่หมู หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นปลา กุ้ง เนื้อวัว ได้ตามต้องการ 
  3. พอเนื้อสัตว์สุกก็ปรุงรสตามชอบด้วยเกลือ น้ำปลา น้ำตาลทราย แล้วใส่ใบบัวบกลงไป เมื่อใบบัวบกเริ่มสลดก็ยกลงมารับประทานได้

สูตรน้ำ

9. สรรพคุณ

บัวบกนั้นมีสรรพคุณทางยามากมาย ใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน โดยสามารถอธิบายโดยรวมได้ว่าบัวบกมีสรรพคุณต่าง ๆ ในเชิงการรักษาได้ดังนี้ 

  1. แก้ช้ำใน 
  2. ลมชัก 
  3. แก้อาการร้อนใน 
  4. บำรุงร่างกาย บำรุงสมอง บำรุงสายตา 
  5. แก้ท้องเสีย ท้องอืด โรคกระเพาะ 
  6. บำรุงประสาท ลดอาการสมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

บัวบกยังมีสรรพคุณทางการรักษาทางเภสัชวิทยาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น การช่วยสมานบาดแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ ลดการอักเสบต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก ใช้เป็นยาระงับประสาท แก้ปวด ต้านฮีสตามีน ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดความดัน ลดไข้ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

การทานใบบัวบกสด ๆ นั้นจะช่วยให้ได้สารอาหารต่าง ๆ หลายชนิด โดยสารที่พบมากสำหรับการทานใบบัวบกสดนั้นคือ"สารไกลโคไซด์ (Glycosides)" ที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเสื้อมสภาพของเนื้อเยื่อ รวมไปถึงเซลล์ต่าง ๆ อย่างได้ผล ช่วยสร้างคอลลาเจน ดูแลเนื้อเยื่อต่าง ๆ และผิวพรรณของเรานั่นเอง

สรรพคุณ

10. ยาภายนอก

บัวบกสามารถใช้เป็นยาทาภายนอกได้ดีเช่นกัน ไม่ใช่แค่ต้องบริโภคเข้าไปอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการนำใบสดมาใช้หรือผ่านการแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ

การใช้ใบบัวบกสดเป็นยาภายนอกนั้นมีสรรพคุณในการรักษาแผลเปื่อย ไฟไหม้น้ำร้อนลวก เพียงนำใบบัวบกสดประมาณ 1 กำมือมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด แล้วนำน้ำที่คั้นออกมาไปทาบริเวณแผล หรือจะใช้กากพอกด้วยก็ได้ การใช้ยาตำรับนี้จะทำให้แผลสมานเร็วขึ้น ลดการอักเสบ ลดการเกิดแผลเป็น

ส่วนการใช้บัวบกเป็นสมุนไพรในการแพทย์ทางเลือก หรือแพทย์แผนไทยนั้น ในปัจจุบันมีการผลิตครีมบัวบกออกมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีสรรพคุณเน้นการสมานแผล ลบรอยแผลเป็น และจุดด่างดำ หรือใช้น้ำมันบัวบกในการบำรุงเส้นผมเป็นต้น

ยาภายนอก

11. น้ำมันบัวบก

น้ำมันบัวบกเป็นอีกหนึ่งตำรับยาสมุนไพรของไทยซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมาเป็นเวลานาน ซึ่งสรรพคุณหลักของน้ำมันบัวบกคือ การบำรุงเส้นผม บำรุงหนังศีรษะ ช่วยลดการเกิดผมขาว ผมหงอกนั่นเอง ซึ่งน้ำมันบัวบกนั้นสามารถหาซื้อแบบสำเร็จรูปได้ แต่การทำน้ำมันบัวบกด้วยตัวเองนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก

  1. เริ่มด้วยการเตรียมวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ ซึ่งสูตรนี้จะใช้บัวบก 4 กิโลกรัม น้ำสะอาด 7 ลิตร น้ำมันมะพร้าว 1 ลิตร 
  2. ล้างบัวบกให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปปั่นให้ละเอียดจนเป็นน้ำ กรองกากออกให้หมด
  3. เมื่อได้น้ำบัวบกที่ผ่านการกรองแล้ว ให้นำน้ำบัวบกไปเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวโดยใช้ไฟอ่อน เคี่ยวไปจนผสมกันดี จะสังเกตได้จากกากในการเคี่ยวจะมีลักษณะแห้งเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายกับเม็ดทรายก็เป็นอันใช้ได้ 
  4. ปิดไฟ ยกลงจากเตา จากนั้นก็กรองให้เหลือแค่น้ำมันแล้วนำมาใช้ได้เลย

ส่วนวิธีการใช้น้ำมันบัวบกเพื่อการบำรุงเส้นผม บำรุงหนังศีรษะ ลดการเกิดผมขาวนั้น เพียงแค่นำน้ำมันบัวบกที่ได้มาชโลมให้ทั่วหนังศีรษะและเส้นผม จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วจึงล้างออก เพียงเท่านี้ก็ได้หนังศีรษะสุขภาพดี เส้นผมที่ดำเงางามไม่หลุดร่วงง่าย และจำนวนผมขาวที่น้อยลงอย่างแน่นอน

น้ำมัน

12. ข้อควรระวัง

อย่างที่เคยยกตัวอย่างไปแล้วในหลายบทความก่อนหน้านี้ว่า สมุนไพรต่าง ๆ นั้นต้องใช้ด้วยความรู้ ความเข้าใจและใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะว่าสมุนไพรนั้นมีทั้งคุณ และโทษ บัวบกก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าบัวบกจะเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย หรือมากด้วยสรรพคุณทางด้านการเป็นยาสมุนไพร แต่บัวบกนั้นก็มีข้อห้ามและข้อควรระวังในการใช้ด้วยเช่นกัน

การใช้บัวบกเพื่อเป็นยา ต้องดูด้วยว่ามีโรคประจำตัวบางอย่างที่อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติเมื่อใช้บัวบกหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น บัวบกมีคุณสมบัติเป็นยาเย็นจัด เมื่อทานมากไปจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล การใช้บัวบกในคนที่ขี้หนาว ท้องอืด จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรือการดื่มน้ำบัวบกก็ไม่ควรดื่มมากจนเกินไป ควรดื่มแค่วันละไม่เกินครึ่งลิตร

การทานใบบัวบกติดต่อกันทุกวันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีเพราะจะทำให้ร่างกายเสียสมดุล ควรเว้นระยะหรือเว้นวันในการทานบ้าง รวมไปถึงไม่ควรทานในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับคนที่ต้องทานยาแก้แพ้ ยากันชัก ยานอนหลับ ไม่ควรทานบัวบกเนื่องจากจะทำให้เกิดอาการง่วงซึมเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าทานเข้าไปแล้วมีอาการใจสั่น ท้องเสีย คันตามผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ข้อควรระวัง

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่าบัวบก นั้นเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและมีประโยชน์มากกว่าการกินแก้ช้ำใน ซึ่งสมุนไพรมากประโยชน์อย่างบัวบกนั้น ไม่ใช่พืชไกลตัวเลย แต่บางคนอาจจะยังไม่ทราบถึงสรรพคุณทั้งหมดของบัวบก ดังนั้นบทความนี้จึงได้นำเสนอรายละเอียดของบัวบกในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจกับพืชสมุนไพรชนิดนี้มากขึ้น

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร