Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ตรวจเข้ม 2 จุด One Transport ปลอดฝุ่น

23/1/2019
x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ยังคงต้องเฝ้าระวังเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ล่าสุด (เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562) ทั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต  อีกแห่ง โรงงานมักกะสัน และสถานีกลางบางซื่อ ถึงความคืบหน้า รวมถึงตรวจเข้มตามโครงการ One Transport ปลอดฝุ่น PM 2.5

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่โรงงานมักกะสัน และสถานีกลางบางซื่อ พร้อมกำชับ กวดขันพื้นที่ไม่ให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย One Transport ปลอดฝุ่น PM 2.5 ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่โรงงานมักกะสัน และสถานีกลางบางซื่อ โดยมี นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์ รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟฯ และ ผศ.ดร.ศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ร่วมลงพื้นที่ เพื่อตรวจปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้ดำเนินการเร่งรัดการลดปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ตามข้อสั่งการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พร้อมทั้งให้ติดตามผลการดำเนินมาตรการของกระทรวงคมนาคมในการแก้ไข และรับมือสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ  และปริมณฑลเกินมาตรฐานอย่างเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนทั้ง 9 ข้อ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์อย่างเคร่งครัด

ในเบื้องต้น มอบนโยบายการแก้ไขปัญหาการลดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยให้ระงับกิจกรรมที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการสร้างฝุ่นละอองภายในโรงงานมักกะสัน การจัดหาเอกชนที่สามารถควบคุมพื้นที่ในการซ่อมบำรุงให้อยู่ในเขตโรงงานหรือมีพื้นที่เฉพาะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดหาเครื่องมือ เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยตามมาตรฐานสากลเข้ามาดำเนินการลอกสีแบบเดิม รวมทั้ง เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการทดสอบการใช้ไบโอดีเซล B20 กับขบวนรถดีเซลราง และให้เข้มงวดกวดขันการใช้มาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่โรงรถจักร และรถพ่วงต่างๆ รวมถึงพื้นที่ก่อสร้างโครงการของการรถไฟฯ จนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะบรรเทาลง

ด้าน การรถไฟฯ มอบหมายให้ฝ่ายการช่างกลของการรถไฟฯ พัฒนาระบบรถพาวเวอร์คาร์ขึ้นมาใช้งาน โดยใช้พลังงานจากรถพาวเวอร์คาร์เพียงคันเดียวในการจ่ายไฟไปใช้ในขบวนรถโดยสารทั้งขบวนทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังได้นำน้ำมันบี 20 มาทดสอบใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเดินรถขบวนรถโดยสาร เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษ แก้ปัญหาการเกิดฝุ่นละอองในอากาศให้ลดลง คาดว่าจะเริ่มทดสอบนำมาวิ่งเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ

ขณะที่พื้นที่การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ได้มีการใช้รถฉีดพรมน้ำ บริเวณพื้นผิวถนน จำนวน 8 ครั้ง ต่อวันหรือหากกรณีที่มีการเกิดฝุ่นละอองเยอะมากกว่าปกติก็จะเพิ่มความถี่การฉีดพรมน้ำมากขึ้น

ในอีกจุด นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต  โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. พร้อมด้วยตัวแทนผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างโครงการฯ ให้การต้อนรับ

โดยในครั้งนี้ได้กำชับให้ รฟม. เข้มงวดให้ผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น จัดรถดูดฝุ่น ล้างพื้นที่ถนนสายไหมบริเวณก่อสร้างอยู่เสมอ

พร้อมกับทำการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้มีคุณภาพและตรวจวัดค่าไอเสียเครื่องจักรให้อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน และให้คืนพื้นที่และพื้นผิวจราจรทันทีที่ก่อสร้างงานพื้นฐานโครงการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จเพื่อคลี่คลายปัญหาจราจร

ปัจจุบันโครงการฯ ความก้าวหน้าของงานโยธา (Civil Work) อยู่ที่ร้อยละ 97 โดยหลังก่อสร้างงานโยธาจะดำเนินงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E) ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2563

 

23/1/2019

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร