Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รู้จักกับชนิดของหลอดไฟพร้อมวิธีใช้งานอย่างถูกต้อง

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เมื่อแสงสว่างคือสิ่งจำเป็นของทุกบ้าน การรู้จักกับ ชนิดของหลอดไฟ และวิธีใช้งานอย่างถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยสภาพแวดล้อมและปัจจัยรอบตัวหลาย ๆ ด้านทำให้การเลือกใช้หลอดไฟที่เหมาะสมช่วยสร้างความคุ้มค่าได้มากกว่าแค่ส่องสว่าง บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปรู้จักกับหลอดไฟให้มากขึ้นกว่าเดิม

1. หลอดไส้ 

หรือหลอดไส้ร้อน เป็นประเภทของหลอดไฟดั้งเดิมที่ยังคงใช้งานกันมาอย่างยาวนาน การส่องสว่างเกิดจากความร้อนถูกส่งผ่านไปจนถึงไส้หลอดที่ทำจากลวดโลหะ เมื่อระดับความร้อนสูงจนถึงจุดที่เหมาะสมแสงไฟก็สว่างขึ้น ซึ่งภายในหลอดแก้วที่ส่องสว่างอยู่นั้นจะบรรจุแก๊สเฉื่อย หรือทำเป็นสุญญากาศเพื่อไม่ให้ตัวหลอดเจอกับความร้อนโดยตรง

บริเวณก้นของหลอดไฟจะมีตัวเชื่อมต่อที่สามารถเสียบกับปลั๊กไฟได้ทันที ไม่ต้องมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่น ๆ จึงมีค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลรักษาไม่สูงนัก ปัจจุบันหลอดไส้ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น ใช้เป็นไฟส่องสว่างหน้าบ้าน ไฟฉาย หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ส่องสว่างเพื่อช่วยให้สัตว์ปีกฟักออกจากไข่ เป็นต้น

หลอดไส้ 

2. หลอดฟลูออเรสเซนต์ 

นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า หลอดนีออน เป็นหลอดไฟฟ้าชนิดปล่อยประจุ ภายในบรรจุไอปรอทความดันต่ำไว้ เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่หลอด อนุภาคปรอทจะเกิดการปล่อยรังสีเหนือม่วงที่ไปกระทบกับสารก่อให้เกิดการเรืองแสงซึ่งถูกทาเอาไว้ด้านในของหลอด จากนั้นสารดังกล่าวทำให้มีแสงสว่างที่มองเห็นได้ชัดเจนออกมาสู่สายตาของมนุษย์

การใช้งานหลอดฟลูออเรสเซนต์จำเป็นต้องมีบัลลาสต์กับสตาร์ทเตอร์  เพราะตัวหลอดจำเป็นจะต้องอุ่นเครื่องสักครู่ก่อนไฟจะติด (สังเกตได้เวลาเปิดไฟประเภทนี้จะมีแสงกะพริบก่อน) จุดเด่นคือกินไฟน้อยกว่าหลอดไส้เนื่องจากไม่ได้ใช้ความร้อนเป็นตัวสร้างแสง

หลอดฟลูออเรสเซนต์ 

3. หลอดฮาโลเจน 

มักเรียกอีกแบบว่า หลอดฮาโลเจนทังสเตน เป็นรูปแบบของหลอดไฟที่ต่อยอดมาจากหลอดไส้ โดยมีกระบวนการทางเคมีบางอย่างส่งผลให้โลหะถูกนำมาใช้เป็นไส้ส่องสว่าง มีขนาดเล็กกว่า ภายในมีแก๊สฮาโลเจนถูกบรรจุด้วยแรงดันสูง เมื่อความร้อนเพิ่มถึงขีดที่เหมาะสมสารฮาโลเจนภายในจะเกิดปฏิกิริยาและมีอุณหภูมิลดลง ตัวหลอดทำจากแก้วซิลิกา, อะลูมิเนียมซิลิเกตที่ผ่านการหลอม หรือควอตซ์ มักนิยมนำไปใช้กับหลอดไฟหน้ารถยนต์ ไฟสปอตไลท์ ที่ต้องการแสงส่องสว่างที่ชัดเจน หรือทำเป็นหลอดไฟส่องสว่างในพื้นที่มืดสนิทก็ได้

หลอดฮาโลเจน 

4. หลอดเมทัลฮาไลด์ 

หลอดไฟชนิดนี้จะมีระดับความเข้มข้นสูงมาก ๆ กระบวนการทำงานเกิดจากหลอด ARC ที่มีขนาดเล็กมีการผสมกับแก๊สที่อยู่ภายในหลอดซึ่งเป็นกลุ่มอาร์กอนแรงดันสูง รวมถึงแก๊สกลุ่มปรอทและโลหะประเภทอื่นรวมกันอีกมากมาย จนกลายเป็นสี เมื่อความร้อนกับความดันมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดแสงที่สว่างชัดเจนมาก ๆ แม้ตัวหลอดมีขนาดเล็ก ด้วยขนาดของหลอดที่เล็กแต่ให้แสงสว่างจ้า จึงนิยมนำไปใช้ด้านการเกษตร เช่น ใช้ในแปลงเกษตรเพื่อส่องสว่างในยามค่ำคืน หรืออาจนำไปใช้ส่องสว่างในพื้นที่กลางแจ้งเพื่อไม่ให้เกิดความมืดมากจนเกินไป

หลอดเมทัลฮาไลด์ 

5. หลอดแสงจันทร์

หลอดไฟประเภทนี้ต้องใช้ไฟฟ้าแรงสูงซึ่งกระโดดผ่านไอปรอทเพื่อสร้างแสงสว่าง โดยทั้งปรอทและขั้วไฟฟ้าจะถูกบรรจุไว้ในหลอดแก้วควอตซ์ขนาดเล็ก แล้วครอบทับอีกชั้นด้วยบอโรซิลิเกตไม่ให้ความร้อนกระจายออกสู่ภายนอก สิ่งพิเศษของหลอดแสงจันทร์คือให้ความสว่างได้ดีกว่าหลอดไส้หรือหลอดฟลูออเรสเซนต์ จากกำลังแสงที่สูงกว่าทำให้หลอดไฟชนิดนี้นิยมใช้สำหรับการส่องสว่างกลางแจ้งเพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น สนามกีฬา โกดังสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม บางประเทศก็ใช้ทำไฟถนน แต่จะไม่ค่อยใช้ในบ้านคนหรือร้านค้าต่าง ๆ เนื่องจากเนื้อแสงจะออกเขียว ๆ ทำให้ดูไม่ค่อยสวยงาม

หลอดแสงจันทร์

6. หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ 

เกิดจากกระแสไฟฟ้าเดินทางผ่านแก๊สเฉื่อยจนเกิดรังสีอัลตราไวโอเลต แล้วมีปฏิกิริยากับสารเรืองแสงที่ถูกฉาบไว้ในหลอดจึงเกิดแสงขึ้น ทั้งนี้ต้องทำงานร่วมกับบัลลาสต์เพื่อให้การทำงานสมบูรณ์แบบ เป็นอีกประเภทของหลอดไฟที่ถูกพัฒนาให้ดีกว่าหลอดไส้ มีขนาดเล็กลง ใช้งานยาวนานขึ้น สามารถเลือกลักษณะหลอดได้หลายแบบ เช่น ทรงเทียน ทรงกลม รูปตัวเอ รูปกระบอก ฯลฯ
 
หลอดไฟชนิดนี้นิยมนำเอาไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายตามความพึงพอใจของผู้บริโภค เช่น ไฟส่องสว่างโรงรถ ห้องเก็บของ โคมไฟโต๊ะหนังสือ ไฟหน้าบ้าน ไฟระเบียง หรือใช้สำหรับตกแต่งร้านอาหาร เป็นต้น

หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ 

7. หลอด LED

LED หรือ Light Emitting Diode เป็นหลอดไฟที่ใช้สารกึ่งตัวนำ 2 ชนิด คือ P กับ N ประกบคู่กัน ผิว 1 ด้านจะมีความเรียบเหมือนกระจก เมื่อกระแสไฟฟ้าตรงเดินทางมาถึงจะเกิดการจ่ายไฟบวกให้กับขาแอโนต และไฟลบให้ขาแคโทด จากนั้นสารกึ่งตัวนำ N จะมีค่าสูงขึ้นจนเดินทางข้ามรอยต่อไปรวมกับสาร P ทำให้เกิดเป็นกระแสไหลและปล่อยพลังงานในลักษณะคลื่นแสงออกมา
 
การใช้งานหลอดไฟประเภทนี้จะช่วยให้ได้แสงสว่างยาวนานขึ้น สีสันชัดเจน ประหยัดพลังงาน เหมาะกับสิ่งแวดล้อมเพราะไม่มีสารปรอท สามารถใช้งานได้ทันทีไม่ต้องรอไฟกะพริบเหมือนหลอดบางชนิด สามารถนำไปติดตั้งได้ทุกพื้นที่ที่ต้องการแสงสว่าง

หลอด LED

8. คุณสมบัติต่างๆ

การจะเลือกใช้งานหลอดไฟชนิดใดก็ตามต้องรู้คุณสมบัติพื้นฐานก่อนเสมอ หลักง่าย ๆ คือให้พลิกดูบริเวณข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ซึ่งต้องสังเกตค่าดังต่อไปนี้

  • ค่าพลังงาน Watt เป็นหน่วยแสดงค่าของพลังงานที่ใช้กับหลอดไฟ มีหน่วยวัดเป็นวัตต์ กำลังวัตต์สูงมากเท่าไหร่ก็เปลืองค่าไฟมากเท่านั้น
  • ค่าฟลักซ์แสงสว่าง Lumen ตัวระบุปริมาณแสงสว่างของหลอดไฟชนิดนั้น ๆ ว่ามีค่าเท่าไหร่เมื่อส่องออกมา หากค่าฟลักซ์สูงเท่ากับหลอดไฟให้แสงสว่างสูง
  • ค่าประสิทธิภาพ Efficacy เกิดจากการนำค่า Lumen หารด้วยค่า Watt ผลที่ได้หมายถึง หลอดไฟนี้ใช้พลังงาน 1 วัตต์ สามารถให้ความสว่างได้กี่ Lumen หากค่าสูงมากเท่าไหร่เท่ากับคุณได้ความคุ้มค่าจากการใช้ไฟมากเท่านั้น

คุณสมบัติต่างๆ

9. โทนสี

เกิดจากการเทียบค่าอุณหภูมิสีมีหน่วยวัดเป็น เคลวิน (Kelvin) เกิดจากการวัดด้วยแสงของท้องฟ้าในช่วงเวลาต่างกันออกไป มีค่า 1,000–10,000 องศาเคลวิน ประกอบไปด้วย

  • วอร์ม ไวท์ มีค่า 2,000–3,000 องศาเคลวิน สีออกเหลืองเข้ม เกิดอารมณ์แห่งความผ่อนคลาย แลดูอบอุ่น ให้แสงเนียนตาจึงนิยมใช้กับบรรดาร้านอาหารหรือร้านเสริมความงามประเภทต่าง ๆ
  • คูล ไวท์ มีค่า 4,000–5,000 องศาเคลวิน สีออกเหลืองขาว สร้างความคมชัดให้กับสิ่งต่าง ๆ โทนสีประเภทนี้จะไม่ค่อยใช้เพื่อให้แสงสว่างแต่มักใช้กับงานโฆษณาหรือการแสดงต่าง ๆ
  • เดย์ ไลท์ มีค่า 6,000 องศาเคลวินขึ้นไป สีออกขาวชัดเจน ซึ่งให้ความธรรมชาติมากกว่าโทนอื่น ด้วยเหตุนี้จึงนิยมนำมาใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป

โทนสี

10. การเลือกหลอดไฟ

แม้หลอดไฟจะมีหลายประเภท แต่ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับห้องต่าง ๆ ของบ้าน เช่น ห้องนอน ควรเลือกประเภทที่ให้ความสบายตา แสงไม่แรงเกินไป อาจใช้โทนสีเหลืองเข้มก็ได้ ห้องครัว ห้องน้ำ เลือกโทนสีขาวสว่างเพื่อให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ชัดเจน ไม่หลอกตา ห้องนั่งเล่นเลือกได้ตามชอบ อาจเน้นความส่องสว่างชัดเจนหรือความสลัวเพื่อสร้างบรรยากาศก็ได้เช่นกัน

การเลือกหลอดไฟ

ทั้งหมดนี้เป็น ชนิดของหลอดไฟ และเรื่องต่าง ๆ ที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทุกพื้นที่มีไฟฟ้าใช้อย่างเหมาะสม ลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร