Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ความเขียวที่เจือจาง เมื่อคนกรุงมีพื้นที่ธรรมชาติแค่คนละหนึ่งโต๊ะสนุกเกอร์

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จะดีแค่ไหน ถ้าเราสามารถออกจากบ้านไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะได้เลย โดยไม่ต้องกังวลว่าหากขับรถไปแล้วจะไม่มีที่จอด นอกจากคนที่มีบ้านตั้งอยู่โดยรอบสวนหรือคนที่อยู่ในบ้านจัดสรรชานเมืองที่มีสวนสาธารณะภายในหมู่บ้านแล้ว คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังต้องขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อไปยังสวนสาธารณะหลักของเมืองซึ่งตั้งอยู่ไกลเกินระยะเดินจากที่พักอาศัย เพราะระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อไม่ทั่วถึง

พื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความน่าอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง ถึงแม้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจุดหมายปลายทางที่มีผู้มาเยือนอันดับหนึ่งของโลกตามผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ด (Mastercard Global Cities Index) ปี พ.ศ.2559 แต่กลับติดอันดับที่ 131 ของเมืองคุณภาพชีวิตดีตามผลการจัดลำดับของบริษัทเมอร์เซอร์ (Mercer Quality of Living Ranking) ในปีเดียวกัน ซึ่งนี่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดแคลนปัจจัยส่งเสริมด้านวัฒนธรรม รวมถึงสาธารณูปการพื้นฐานอย่างระบบขนส่งสาธารณะ และพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง ของกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจน

จากข้อมูลสถิติพบว่า อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรในกรุงเทพฯ ต่ำมาก ถ้านับพื้นที่สีเขียวรูปแบบสวนสาธารณะที่ผู้คนสามารถเข้าไปใช้งานได้อย่างอิสระ คิดเป็นพื้นที่เพียงประมาณ 6 ตร.ม.ต่อประชากรหนึ่งคน หรือมีขนาดเท่าโต๊ะสนุกเกอร์ขนาดมาตรฐาน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 9 ตร.ม.ต่อประชากรหนึ่งคน และห่างไกลจากเมืองคุณภาพดีที่ควรมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียว 15 ตร.ม.ต่อประชากรหนึ่งคน

อีกทั้งการกระจายตัวของสวนสาธารณะหลักก็ไม่ได้เอื้อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังที่เห็นได้จากแผนที่แสดงระยะทางเข้าถึงสวนหลักในระยะ 1000 เมตร พบว่าผู้ที่อาศัยในกลุ่มเขตกรุงเทพกลางและกรุงเทพใต้ เช่น ในเขตพระนคร เขตปทุมวัน และเขตประเวศ สามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้ดีกว่าบริเวณอื่น

การเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวจึงมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของนายกเทศมนตรีทั่วโลก ขณะที่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็น 9 ตร.ม.ต่อประชากรหนึ่งคนภายในอีก 15 ปีข้างหน้า ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้เป็น 1.5 เท่าของที่มีอยู่ในปัจจุบัน

หนึ่งในข้อสังเกตจากการพิจารณาการใช้ที่ดินในกรุงเทพฯ พบว่ายังมีพื้นที่โล่งว่างที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างหรือมีการใช้งานต่ำอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ริมคลอง ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 29 ล้านตร.ม. ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ สวนหย่อม หรือสนามเด็กเล่นได้ จากตัวอย่างโครงการฟื้นฟูเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างเดอะไฮไลน์ ของนครนิวยอร์ค หรือฟื้นฟูชองเกชอน ของกรุงโซล แสดงให้เห็นศักยภาพของการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างหรือมีการใช้งานต่ำภายในเมืองกลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์เป็นพื้นที่สีเขียว โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการเหล่านั้นนอกจากการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ริเริ่มโครงการไปจนถึงขั้นตอนของการร่วมดูแลรักษาโครงการหลังสร้างเสร็จ

นอกเหนือจากปรับเปลี่ยนพื้นที่ของรัฐที่มีการใช้งานต่ำในเมืองแล้ว การเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในเมืองอาจดำเนินการในพื้นที่ของเอกชนโดยใช้กลไกทางผังเมืองเข้ามาช่วยอย่างในหลายเมืองของประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น สวนสาธารณะภายในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ Tokyo Midtown ที่เป็นผลจากการใช้กลไกทางกฎหมายที่สร้างแรงจูงใจให้เอกชนแบ่งปันส่วนหนึ่งของแปลงที่ดินที่จะดำเนินการพัฒนามาปรับเป็นสวนหย่อมที่ต่อเนื่องกับสวนสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้วและเปิดให้ผู้คนใช้งานได้ตลอดเวลา เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการพัฒนาที่จะสามารถเพิ่มพื้นที่อาคารได้มากขึ้นกว่าที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้

ในกรุงเทพฯ เองนั้นได้มีการประกาศใช้ระบบรางวัล (Bonus System) ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ.2549 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะรวมถึงพื้นที่สีเขียวใบบริเวณย่านที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินหนาแน่นด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีผู้ขอใช้ระบบนี้อยู่เพียงจำกัด จึงเป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาต่อไปถึงกลไกที่จะทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพโดยความร่วมมือของภาคเอกชน


 


เขียนโดย: ปิยา ลิ้มปิติ
สถาปนิกที่สนใจออกแบบพื้นที่กึ่งสาธารณะ โดยการวิเคราะห์หาศักยภาพของเมือง การวางแผนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม (Deliberative Design Process) และหาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของคนเมือง ปัจจุบันเป็นสถาปนิกในศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ข้อมูลสัดส่วนพื้นที่สีเขียวและเนื้อหาบางส่วนอ้างอิงจากโครงการริมน้ำยานนาวา ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC)

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก: aldo69, pinterest.com, adsttc.com

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร