Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดินสร้างไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เริ่มต้นปีใหม่ 2562 สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ก็มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ครม.เปิดประชุมนัดแรกปี 2562 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินในบริเวณเวนคืนสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยมีพื้นที่ครอบคลุมใน 20 ตำบล 4 จังหวัดภาคตะวันออก 3 เขต กทม. พื้นที่กว่า 850 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง กรอบเวลา 4 ปี หลัง พ.ร.ฎ. มีผลบังคับใช้

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พ.ศ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

โดยเนื้อหาของร่างพระราชกฤษฎีกาคือ การกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดังนี้

กรุงเทพฯ ได้แก่ ในพื้นที่แขวงคลองสามประเวศ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 
สมุทรปราการ ได้แก่ ในพื้นที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี 
ฉะเชิงเทรา ได้แก่ ในพื้นที่ตำบลบางเตย ตำบลวังตะเคียน ตำบลท่าไข่ ตำบลบางขวัญ ตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา 
ชลบุรี ได้แก่ ในพื้นที่ตำบลบ้านสวน ตำบลหนองข้างคอก ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี, ตำบลบางพระ ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา, ตำบลนาเกลือ ตำบลหนองปรือ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง, ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ 
ระยอง ได้แก่ ในพื้นที่ตำบลสำนักท้อน ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง 

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคมระบุว่า จะมีที่ดินที่ต้องเวนคืนประมาณ 850 – 0 – 04.82 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 245 หลัง จึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ 
รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค 

ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการภายในระยะเวลา 4 ปี ตามที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ    

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเห็นว่า มีความจำเป็นต้องก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง รฟท. ในท้องที่ดังกล่าว   

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วย
(1) โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์เดิม คือช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
(2) โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานดอนเมือง
(3) โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ (บริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ลาดกระบัง) ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หากแล้วเสร็จจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยพัฒนาด้านการขนส่งเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวผลักดันเชื่อมเศรษฐกิจไทยสู่นานาชาติอีกด้วย

ไม่พลาดทุกข่าวสาร ทันทุกเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์กับ Baania ได้ที่ Line Official >> @baania

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร