Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

คจร.เห็นชอบแผนศึกษาระบบขนส่งสาธารณะ 5 จังหวัดหลัก ส่ง รฟม.ดำเนินงานพร้อมเปิดทางเอกชน-ท้องถิ่นร่วม

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการพิจารณาการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก และ ภูเก็ต ดังนี้ 

ไฟเขียวผุด TOD 2 แห่งในโคราช
ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการพิจารณาผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสม ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) มีทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง และจะมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี(Transit Oriented Development : TOD) หรือจุดจอดของระบบขนส่งสาธารณะ โดยได้คัดเลือกพื้นที่ 2 บริเวณ ได้แก่ ย่านสถานีรถไฟนครราชสีมา หรือย่านสถานีรถไฟโคราช (TOD 1) และย่านสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมาแห่งที่ 2 (TOD2) ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการในขั้นตอนการลงทุนและการก่อสร้างโครงการ โดยอาจหารือท้องถิ่นถึงแนวทางการดำเนินงานรวมกันต่อไป
ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดขอนแก่น จากผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองขอนแก่น ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) ในรูปแบบการลงทุนโดยที่รัฐเวนคืนที่ดินแล้วให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งงานระบบและจัดหาตัวรถตลอดจนงานดำเนินการและบำรุงรักษาซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุด สำหรับเส้นทางที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการนำร่อง ได้แก่ เส้นทางในแนวเหนือ-ใต้ (บ้านสำราญ ตำบลสำราญ-ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น) ระยะทางประมาณ 22.8 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าภูเก็ตเสนอครม.ในปี 61
ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดภูเก็ต ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาโครงการ ซึ่งระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือTramway) เป็นระบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยมีทางวิ่งระดับดิน ยกเว้นบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตจะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดสำหรับระบบรถไฟฟ้า จำนวน 6 ทางลอด ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 มีจำนวนสถานีทั้งหมด 24 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานีที่สถานีท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ตและเป็นสถานีใต้ดิน 1 สถานีที่สถานีถลาง 
นอกจากนี้จะมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณอำเภอถลาง จุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณสถานีรถไฟท่านุ่น จังหวัดพังงา เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง จังหวัดพังงา ส่วนจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ทางเหนือของห้าแยกฉลอง (บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ห่างจากห้าแยกฉลอง ประมาณ 200 เมตร) ระยะทางรวม 58.525 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ตได้ถูกบรรจุไว้ในโครงการตามมาตรการ PPP Fast Track ปี 2560 ของกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้รฟม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการในขั้นตอนการลงทุนและการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารายงานการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมเพื่อให้เอกชนร่วมลงทุน(PPP) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในปี 2561

ชง 2 ทางเลือกรถไฟฟ้าเชียงใหม่
ระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมคจร.ได้มีการพิจารณาผลการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ โดยโครงข่ายแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความเหมาะสมมี 2 โครงข่าย คือ โครงข่าย A ประกอบด้วย 1) ระบบหลัก เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (Light Rail Transit: LRT) 3 เส้นทางได้ แก่ สายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีเขียว รวมระยะทาง 34.93 กิโลเมตร 2) ระบบรอง เป็นระบบรถโดยสารประจำทาง 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 89 กิโลเมตร แต่ละเส้นทางสามารถวิ่งร่วมกับการจราจรปกติ หรือมีเขตทางพิเศษบางส่วน (Bus Lane) และ 3) ระบบเสริม เป็นระบบรถโดยสารประจำทางในเมือง 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 85 กิโลเมตรวิ่งร่วมกับการจราจรปกติในเขตเมือง 
สำหรับโครงข่าย B ประกอบด้วย 1) ระบบหลัก เป็น LRT 3 เส้นทางโดยมีแนวเส้นทางเช่นเดียวกับโครงข่าย A แต่โครงสร้างทางวิ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งระดับดินทั้งหมดรวมระยะทาง 41.49 กิโลเมตร 2) ระบบรอง เป็นระบบรถโดยสารสาธารณะ 7 เส้นทาง มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับโครงข่าย A และ 3) ระบบเสริม เป็นระบบรถโดยสารสาธารณะ 7 เส้นทาง มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับโครงข่าย A 
สำหรับแนวทางการลงทุนเสนอให้เป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 รัฐลงทุน 100% รูปแบบที่ 2 PPP รัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า (M&E) และจัดหาขบวนรถไฟฟ้า และรูปแบบที่ 3 PPP รัฐร่วมเอกชน จัดตั้งบริษัท และระดมทุน (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รฟม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการในขั้นตอนการลงทุนและการก่อสร้างโครงการ โดยอาจหารือท้องถิ่นถึงแนวทางการดำเนินงานรวมกันต่อไป

พัฒนา 3 พื้นที่สถานีขนส่งพิษณุโลก
ระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ที่ประชุมคจร.ได้รับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยเทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทางและมีความเป็นไปได้มี 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก(Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) และกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ 3 ลักษณะ คือ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้สูงอายุและผู้พิการ ราคา 10 บาท ประชาชนทั่วไปในพิษณุโลกราคา 20 บาท และนักท่องเที่ยว ราคา 30 บาท 
รวมทั้ง มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1) สถานีขนส่งผู้โดยสาร พิษณุโลก แห่งที่ 1 ขนาด 6 ไร่ รองรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นหลัก มีความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ 2) ศูนย์การค้าโลตัสท่าทอง ขนาด 25 ไร่ รองรับกิจกรรมที่พักอาศัยเป็นหลัก ความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์การค้าชานเมืองและขั้วความเจริญมหาวิทยาลัยนเรศวร และ 3) สถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลกแห่งที่ 2 ขนาด 50 ไร่ รองรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ความพร้อมค่อนข้างสูง เนื่องจาก ที่ตั้งใกล้กับศูนย์พัฒนาสี่แยกอินโดจีนและสถานีขนส่งสาธารณะแห่งใหม่และรองรับการบริการขนส่งสาธารณะและบริการด้านโลจิสติกส์

กทม. เพิ่ม 3 park and ride นำร่อง 
นอกจากนี้คจร.ยังได้ มีมติเห็นชอบแผนแม่บทโครงการศึกษาจัดทำระบบจอดแล้วจร(park and ride) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทไปเป็นแนวทางในการจัดทำจุดจอดแล้วจรก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวได้มีการจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาจุดจอดแล้วจร โดยอ้างอิงช่วงเวลาของการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลสายหลักและสายรองในกรุงเทพฯและปริมณฑล (M-MAP) แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย
1) แผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรระยะเร่งด่วนในโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ หรือแล้วเสร็จในปี 2562 (0-2 ปี) มีสถานีจำนวนทั้งสิ้น 17 สถานี ที่ควรมีการพัฒนาจุดจอดแล้วจร เป็นสถานีที่มีในแผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรจำนวน 3 สถานี สถานีที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพจำนวน 6 สถานี และสถานีที่ที่ปรึกษาเสนอให้มีเพิ่มเติมจำนวน 8 สถานี
2) แผนพัฒนาจุดจอดแล้วจรระยะกลาง สำหรับโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563 - 2565 (3-5 ปี) มีสถานีจำนวนทั้งสิ้น 24 สถานีที่ควรมีการพัฒนาจุดจอดแล้วจร เป็นสถานีที่มีในแผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรจำนวน 7 สถานี และสถานีที่เสนอให้มีเพิ่มเติมอีกจำนวน 17 สถานี
3) แผนพัฒนาจุดจอดแล้วจรระยะยาว โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 - 2572 (6-12 ปี) มีสถานีจำนวนทั้งสิ้น 5 สถานีที่ควรมีการพัฒนาจุดจอดแล้วจร เป็นสถานีที่มีในแผนการพัฒนาจุดจอดแล้วจรจำนวน 3 สถานี และสถานีที่เสนอให้มีการพัฒนาเพิ่มเติมจำนวน 2 สถานี
ทั้งนี้ ได้นำเสนอโครงการนำร่องเบื้องต้นรวม 3 แห่ง ประกอบด้วย 1) จุดจอดแล้วจรบริเวณสถานีกาญจนาภิเษก โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน 2) ปรับปรุงประสิทธิภาพจุดจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ โครงการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม ช่วงบางใหญ่-เตาปูน และ 3) จุดจอดแล้วจรสถานีตลาดพลู โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีลม (ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า)

ภาพประกอบ : thelens.news

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร