Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับรังวัดที่ดินก่อนจะเสียพื้นที่ไป

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

สำหรับท่านใดที่ครอบครองที่ดินอยู่ อาจจะยังไม่ทราบว่าการรังวัดที่ดิน มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่เคยมีประสบการณ์ในการซื้อ-ขายที่ดินมาก่อน อาจจะระบุขนาดที่ดินไม่ตรงกับโฉนดที่ถือครองไว้ โดยอาจจะระบุที่ดินน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ดินที่มีอยู่จริง นั่นก็เพราะไม่ได้ตรวจสอบ หรือทำการรังวัดแนวเขตให้ชัดเจนนั่นเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ มีหลายกรณีที่เสียที่ดินไปโดยไม่ทันได้เฉลียวใจจากการถูกรุกล้ำ 

การรังวัดที่ดินต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไรบ้าง Baania มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาบอกกันกับการรังวัดที่ดิน กับเรื่องที่ต้องรู้ก่อนจะเสียพื้นที่ เพื่อที่จะได้ปกป้องสิทธิ์การเป็นเจ้าของที่ดินก่อนสายเกินไป

รังวัดที่ดินคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

การรังวัดที่ดิน ทำเพื่อให้ทราบขนาดพื้นที่ของที่ดินที่ชัดเจน โดยการวัดพื้นที่แนวเขตที่ดิน ปักเขต และทำเขตว่าที่ดินที่ครอบครองอยู่มีความกว้าง ความยาวเท่าใด มีเนื้อที่กี่ไร่ กี่ตารางวา สภาพที่ดินเป็นอย่างไร เช่น เป็นที่นา หรือเป็นที่สวน มีเขตติดต่อกับที่สาธารณประโยชน์ หรือติดกับที่ดินใดบ้าง ตั้งอยู่ท้องที่ไหน ตำบลไหน อำเภอหรือจังหวัดอะไร ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการยืนยันสิทธิ์ในการครอบครองของเจ้าของที่ดิน 

ประโยชน์ของการรังวัดที่ดิน

  • ป้องกันการเสียสิทธิ์ที่ดิน ปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อยของที่ดิน คือการโดนรุกล้ำพื้นที่โดยบุคคลอื่น ซึ่งเกิดได้หลายกรณี ทั้งการขยับเลื่อนหมุดแนวเขต การทำลายหมุด หลักหมุดหาย เป็นต้น
  • ป้องกันการถูกลิดรอนสิทธิ์ในที่ดิน หากไม่ตรวจวัดให้แน่ชัด ที่ดินของเราอาจจะถูกใช้เป็นถนน หรือทางเข้า-ออกของบุคคลอื่นได้
  • ป้องกันการรุกล้ำจากเส้นทางสาธารณประโยชน์เข้ามาในเขตที่ดิน เช่น ถนน ลำคลอง ห้วย กรณีแบบนี้จะทำให้เสียพื้นที่ไปโดยไม่รู้ตัว
  • ป้องกันปัญหาการทับซ้อนของที่ดิน การตรวจสอบรังวัดขนาดพื้นที่ของที่ดินให้ชัดเจน จะช่วยป้องกันปัญหาการเหลื่อมซ้อนของแนวที่ดินของเขตติดต่อกัน 
  • ช่วยให้รับรู้ถึงแนวเขตที่ดินที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ประโยชน์

การยื่นขอรังวัดที่ดินต้องทำอย่างไร

การยื่นขอรังวัดที่ดิน เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินสามารถยื่นคำขอได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา หรือสำนักงานที่ดินอำเภอ ตามที่โฉนดที่ดินตั้งอยู่ หากเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ให้ติดต่อสำนักงานเขตที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ เว้นแต่ได้มีการยกเลิกอำนาจนายอำเภอ ก็ให้ติดต่อที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่แทน

ประเภทของการรังวัดที่ดิน สามารถยื่นคำขอแบ่งออกได้เป็น 3 กรณี

  1. การรังวัดที่ดินแบบแบ่งแยก กรณีที่เจ้าของที่ดินต้องการแบ่งที่ดินออกเป็นหลายแปลง เช่น แบ่งเพื่อแยกขาย แบ่งเพื่อมอบเป็นมรดก หรือแบ่งเพื่อสาเหตุอื่น ๆ เจ้าของที่ต้องยื่นคำร้องของรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่ที่ดินใหม่ เพื่อทำการออกโฉนดแปลงที่ดินที่แบ่งแยก
  2. การรังวัดที่ดินแบบสอบเขต กรณีที่เจ้าของที่ดินต้องการรังวัดที่ดินใหม่ เพื่อตรวจสอบแนวเขต และพื้นที่ของที่ดินทั้งหมดว่าตรงกับโฉนดจริงหรือไม่ สภาพที่ดินเป็นอย่างไร มีพื้นที่ทั้งหมดกี่ไร่ กี่งาน กี่ตารางวา กรณีนี้รวมถึงการสูญหายของหมุดแนวเขตด้วย เจ้าของที่ดินต้องยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อขอทำการรังวัดใหม่ และแก้ไขเลขหลักหมุดใหม่ลงในโฉนดที่ดินใหม่ให้ถูกต้อง
  3. การรังวัดที่ดินแบบรวมโฉนด กรณีที่เจ้าของที่ดินได้ซื้อที่ดินใกล้เคียงกับที่ดินผืนเดิม และต้องการรวมให้เป็นโฉนดฉบับเดียว เจ้าของที่ดินต้องยื่นคำร้องกับเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อขอทำการรังวัดใหม่ เพื่อทำการออกโฉนดที่ดินแบบรวมฉบับใหม่ให้กับเจ้าของที่ดิน

หลักฐานประกอบการยื่นขอรังวัดที่ดิน 

  • บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส และหลักฐานการเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)
  • โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน
  • หลักฐานประกอบการขอรังวัดที่ดิน

การขอรังวัดที่ดินกรณีเป็นโฉนดที่ดินรวม 

  • ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกัน ยกเว้นโฉนดแผนที่กับโฉนดที่ดินให้รวมกันได้
  • ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับ และต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
  • ต้องเป็นที่ดินที่ติดต่อกันเป็นผืนเดียวกัน อยู่ในจังหวัด และสำนักงานเขตที่ดินเดียวกัน

ยื่นขอรังวัดที่ดิน

ขั้นตอนการทำรังวัดที่ดิน

  1. ยื่นคำขอสอบสวนรังวัดที่ดิน ชำระค่าธรรมเนียมคำขอ
  2. ส่งฝ่ายรังวัด นัดหมายวันทำการรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด กำหนดเงินค่ามัดจำการรังวัด
  3. ตรวจสอบรายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียง ทำหนังสือแจ้งข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัด 
  4. ช่างรังวัดที่ดินออกไปทำการรังวัดตามวันที่นัดหมาย คำนวณพื้นที่ เขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
  5. ส่งเรื่องรังวัดคืนเจ้าหน้าที่แผนกทะเบียน สอบสวน และจดทะเบียนแบ่งแยก ตรวจอายัด
  6. ชำระค่าธรรมเนียมและค่าโฉนด
  7. ออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินลงนามประทับตรา
  8. รับโฉนดที่ดิน

ขั้นตอนการทำรังวัดที่ดิน

ขั้นตอนการขอแบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่ และรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์

ปกติการรังวัดที่ดินมีหลายกรณีด้วยกัน ทั้งการรังวัดออกโฉนดที่ดิน สอบเขต รวมโฉนดที่ดิน แบ่งแยกเพื่อแบ่งขาย หรือแบ่งแยกในนามเจ้าของที่ดินเดิม หรือแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ฯลฯ การรังวัดอาจทำโดยวิธีดังนี้

  1. เจ้าของที่ดินนำหนังสือการรับรองทำประโยชน์ และเอกสารไปทำการยื่นคำขอรังวัด
  2. นัดหมายวันทำการรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด และเจ้าหน้าที่ กำหนดเงินค่าใช้จ่ายในการรังวัด
  3. ช่างรังวัดที่ดินออกไปทำการรังวัดตามวันที่นัดหมาย คำนวณพื้นที่ ปักหลักเขตแนว
  4. ลงนามในเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย
  5. รอรับหนังสือแจ้งให้ไปดำเนินการจดทะเบียน

เกร็ดความรู้ : ความหมายของคำที่มักพบเห็นในเอกสารการรังวัดที่ดิน อาทิ

  • รังวัด คือการวัดระยะความกว้าง ความยาวของพื้นที่
  • ปักเขต คือการใช้หลักปักเขต เพื่อให้รู้ว่าที่ดินมีแนวอย่างไร
  • ทำเขต คือทำแนวเพื่อให้รู้ว่าที่ดินนั้นมีลักษณะรูปร่างอย่างไร ติดกับที่ดินข้างเคียงแปลงใดบ้าง
  • คำนวณพื้นที่ ใช้การคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ว่าที่ดินนั้นมีขนาดกี่ไร่ กี่งาน กี่ตารางวา

แบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่

จริงๆแล้วรังวัดที่ดินมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องที่เจ้าของที่ดินไม่ควรปล่อยปละละเลย โดยปกติแล้วการรังวัดที่ดิน ควรจะรังวัดทุก 10 ปี หากไม่ได้รังวัด กรณีจะเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน หรือซื้อขายที่ดิน ก็อาจจะพบว่าที่ดินของเราบางส่วนกลายเป็นของคนอื่น หรือได้กลายเป็นทางร่วมสาธารณะไปแล้วก็เป็นได้ หลังจากได้อ่านบทความนี้ เจ้าของที่ดินควรดำเนินการตัดสินใจให้ทันท่วงที เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากการครอบครองโดยปรปักษ์ หรือเสียกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร