Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

12 ขั้นตอนปลูกฟักทองผลดก ให้ได้ทานตลอดปี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“การปลูกฟักทอง” ไว้รับประทานในบ้านเริ่มที่เป็นนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะฟักทองช่วยเรื่องน้ำหนัก แก้ไขระบบควบคุมน้ำตาลในร่างกาย และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภายในการมองเห็น อย่ารอช้ามาปลูกฟักทองด้วยวิธีแสนง่าย เพื่อให้เรามีทานได้ตลอดทั้งปีไม่ว่าจะมีพื้นที่ใหญ่ หรือพื้นที่เล็กก็ปลูกได้ไม่หวั่น แถมยังเป็นไม้ประดับให้ความสวยงามแก่บ้านได้อีกด้วย ฟักทอง เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่ทำได้ทั้งอาหารคาว อาหารว่าง และของหวาน เมื่อแก่จะมีลูกสีเหลืองอมส้ม เป็นพืชมีเถา ปลูกได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง และแพร่กระจายไปทั่วโลก

1. เตรียมอุปกรณ์

สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวก เสริมประสิทธิภาพ และจำเป็นอย่างมากในการทำงาน เพราะจะช่วยทุ่นแรง และทุ่นเวลาให้น้อยลงไปได้มากในการปลูกต้นฟักทอง ด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็น มีดังต่อไปนี้

อุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องทุ่นแรงที่ซื้อครั้งเดียวใช้ได้ยาวนาน ได้แก่ จอบและเสียม โดยมีคุณสมบัติมากมายในเรื่องการทำสวน ทำนา หรือทำไร่ รวมถึงเชือกและไม้หลัก ด้วยฟักทองเป็นพืชชนิดมีเถาจึงเลื้อยตามสิ่งรอบข้างได้ ด้วยเหตุนี้ไม้หลักและเชือกถึงต้องเข้ามาช่วยจัดระเบียบเส้นทางที่ถูกต้องให้กับฟักทอง และอย่าแผ่นพลาสติกสีเทาดำใช้ปกปิดหน้าดิน, ถ่านไฟ, และกระป๋องเหล็กทำช่องปลูกฟักทอง

อุปกรณ์เสริม ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำสวนฟักทองให้เติบโตสวยงามออกผลเป็นที่น่าพอใจ เมล็ดฟักทองที่ต้องการ ควรมีมากกว่า 3 เมล็ด ดินร่วนปนทรายและแกลบดำ จำเป็นสำหรับต้นฟักทองมาก เนื่องจากเขาชอบดินที่ถ่ายเทน้ำไว ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ตัวช่วยสร้างสารอาหารให้เจริญเติบโตงอกงาม และฟางคลุมดินใช้สำหรับบังแดดและให้ความชื้นแก่ต้นฟักทองที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ๆ

 เตรียมอุปกรณ์

2. พันธุ์ฟักทอง

ฟักทองนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยปกติมักนิยมเรียกตามลักษณะของลูกที่เกิดขึ้นมา และยังมีชื่อเฉพาะตามเมืองต่าง ๆ อีกด้วย เหตุนี้จึงใช้วิธีแยกย่อยออกเป็นหมวดหมู่ตามปริมาณน้ำหนักของลูกฟักทองทั้งสิ้น 3 รูปแบบ ดังนี้

ฟักทองพันธุ์หนัก จะมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 5-7 กิโลกรัม มีอายุระหว่าง 80-90 วัน และเก็บเกี่ยวได้ 1-2 ครั้งต่อการปลูก โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ ฟักทองคางคกดำ มีเปลือกสีเขียวอมดำจนออกน้ำตาลผิวขรุขระ และรอยบุ๋มใต้ลูก, ฟักทองทองอำไพ มีผลใหญ่ทรงแป้นเป็นพูเนื้อหวาน, และฟักทองบัตเตอร์นัท ผลสีส้มเหลืองคล้ายน้ำเต้าแต่ส่วนลำเป็นแท่งมน

ฟักทองพันธุ์เบา จะมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 กิโลกรัม มีอายุระหว่าง 70-80 วัน และเก็บเกี่ยวได้ 2-3 ครั้งต่อการปลูก โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น เปลืองสีเขียวสดลูกกลมเล็กและเรียบ และฟักทองศรีเมือง มีผิวคล้ายคางคกทรงแป้นปลูกได้ทุกฤดูกาล

ฟักทองพันธุ์เล็ก จะมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8-1.5 กิโลกรัม มักปลูกไว้ประดับบ้าน โดยพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกได้แก่ ฟักทองบึงกาฬ มีผิวขรุขระขนาดเล็กมักนำไปทำสังขยา และพันธุ์ สมอล ออร์เร้น ที่มีผลสีส้มทรงกลมเล็กเนื้อหวาน

พันธุ์ฟักทอง

3. เมล็ดพันธุ์

เมล็ดฟักทองที่ปลูกทั่วไปจะมีทั้งหมด 2 แบบ คือ เมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิด หรือเรียกอีกชื่อว่า ฟักทองสายพันธุ์ดี เป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อได้เรื่อย ๆ ไม่ลดประสิทธิภาพลง โดยมีลักษณะแข็งแรง ให้เนื้อคุณภาพ และรูปลักษณ์ภายนอกสวยงามตามธรรมชาติ 

ปัจจุบันเมล็ดดังกล่าวนั้นหายาก เนื่องจากทางผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ทำการตัดแต่งพันธุกรรมใหม่ให้มาเป็นอีกแบบคือ เมล็ดพันธุ์แบบลูกผสม ที่เน้นในเรื่องการให้ผลผลิตสูง และการเจริญเติบโตดี แต่เมื่อนำมาปลูกซ้ำจะทำให้ประสิทธิภาพด้อยลงเรื่อย ๆ  จึงจำเป็นต้องซื้อเมล็ดจากผู้ผลิตบ่อยครั้ง

หากซื้อลูกฟักทองจากตลาดมาบริโภคเองที่บ้าน สามารถเก็บเมล็ดเอาไว้ปลูก หรือขายต่อให้เกษตรกรได้ โดยนำแก่นเนื้อในของลูกฟักทองออกมา เลือกเมล็ดที่มีขนาดและรูปทรงดี หากมีลักษณะลีบขนาดเล็กหรือมีบางส่วนฉีกขาด จะทำให้โอกาสปลูกต้นฟักทองขึ้นมายากจนอาจไม่ขึ้นเลย ควรเลือกไว้หลาย ๆ เมล็ด เพราะขนาดที่ดีก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะปลูกขึ้นได้เหมือนกัน จากนั้นทำไปตามแดด 3-5 วัน ก่อนทำไปปลูก

เมล็ดพันธุ์

4. พื้นที่

ดินในการปลูกต้นฟักทองทุกชนิดนั้นควรเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี เพราะต้นฟักทองไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่แฉะ หรือน้ำขัง และมีค่าความเป็นกรดอ่อน ๆ (ค่า pH อยู่ระหว่าง 5.5-6.8) สภาพอากาศแห้ง โดยพรวนดินในพื้นที่ที่ต้องการปลูกให้ลึก 30 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ฆ่าเชื้อโรค และวัชพืชประมาณ 1 สัปดาห์ก่อน หากพบว่ามีกรดมากเกินไป สามารถใช้ปูนขาวคลุกเข้าไปกับดินเพื่อปรับสภาพได้ หลังจากนั้นให้นำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกมาหว่านรอบพื้นที่และคลุกเคลาให้เป็นเนื้อเดียวกันกับดิน เพื่อปรับปรุงสภาพให้ร่วนซุย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ในแปลงปลูกจริงจะนิยมปลูกแบบแถวคู่ เพื่อให้ต้นฟักทองเลื้อยเข้าหากันพอดี และทำงานสะดวก โดยยกแปรงสูง 30 เซนติเมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 6-10 เมตร และทำร่องน้ำด้านข้าง 2 ด้าน กว้าง 50 เซนติเมตร ใช้แผ่นพลาสติกสีดำเทากว้าง 1.5 เมตร คลุมแถวยาวทั้งแปรง เพื่อกันวัชพืช นำถ่านติดไฟใส่ในกระป๋องเหล็กนำมาทาบกับแผ่นพลาสติก เพื่อทำช่อง 1.5 เมตร การเว้นระยะห่างระหว่างต้นให้คำนึงจากพันธุ์ที่นำมาปลูก ถ้าลำต้นเลื้อยและให้ผลใหญ่ควรเว้นระยะ 3*3 เมตร แต่หากเป็นต้นพุ่มและให้ผลเล็กควรเว้นระยะ 75*150 เซนติเมตร ตั้งไม้เสาและมัดเชือกให้โน้นมาหากันคล้ายตัวเอยาวลงไป นำมาตั้งระหว่างกลางแถวปลูก

พื้นที่

5. วิธีการปลูกฟักทอง

สำหรับวิธีการปลูกฟักทองในพื้นที่ที่มีขนาดกลางจนถึงขนาดกว้าง จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การปลูกแบบหยอดเมล็ด และการปลูกโดยการเพาะกล้า ดังนี้ 

การปลูกฟักทองแบบหยอดเมล็ด

จะทำการขุดหลุม รองก้นหลุมแล้วลงด้วยปุ๋ยที่สลายได้ดี หยอดเมล็ด 3-5 เมล็ด พร้อมกลบด้วยดินผสมละเอียดหรือแกลบดำ ลึก 2.5-5 เซนติเมตร จากนั้นนำฟางมาคลุมหน้าดิน รดน้ำให้ชื้นอย่างสม่ำเสมอทุกวันประมาณ 3-5 วัน เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกพ้นดิน ให้แหวกฟางที่คลุมแปลงเพื่อต้นฟักทองจะได้โผล่ขึ้นมาและเจริญเติบโตไวขึ้น เมื่อต้นกล้ามีใบ 2-3 ใบแล้วควรถอนเอาต้นที่ไม่แข็งแรงทิ้ง และเหลือต้นที่สมบูรณ์ไว้ 1 ต้นต่อหลุมเท่านั้น 

การปลูกฟักทองโดยการเพาะกล้า

นำเมล็ดมาล้าง 1-2 รอบ จากนั้นแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ 30 นาที แล้วนำไปห่อไว้ในผ้าขาวบาง บ่มในกล่องพลาสติกใส 3-5 วัน เมล็ดจะเริ่มแตกรากออกมา จึงนำไปเพาะในถาดเพาะกล้า รดน้ำ 10-12 วัน หรือจนกว่าฟักทองจะมีใบ 2-3 ใบ แล้วค่อยย้ายมาปลูกแปลงจริง

ทุกครั้งก่อนการหยอดเมล็ดหรือนำกล้าลงปลูก ควรหยอดปุ๋ย และหยอดสารป้องกันแมลงเสมอในอัตราเท่า ๆ กัน เพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับดิน ป้องกันพาหะ และเชื้อโรค

ขั้นตอนการปลูก

6. ปลูกฟักทองในกระถาง

การปลูกฟักทองในกระถางมักจะปลูกในกรณีที่มีพื้นที่จำกัด เช่น กระถางหรือถุงดำ การปลูกฟักทองในกระถางมักใช้ต้นฟักทองที่ให้ลูกไม่ใหญ่มาก หรือนำมาประดับบ้าน เพื่อความสวยงามเสียมากกว่า โดยวิธีการปลูกฟักทองในกระถางนิยมปลูกแบบหยอดเมล็ดเพื่อเลือกต้นที่ดีที่สุด แล้วแยกมาลงกระถางอีกครั้งหนึ่ง ตั้งไม้เสานำร่องให้ต้นเลื้อย สำหรับการปลูกฟักทองในกระถางนี้จำเป็นต้องดูแลตัดแต่งต้นอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงผลผลิตที่ได้มาควรมีจำนวนที่จำกัด หากนำกระถางไปตั้งในที่ที่มีแสงแดดส่องบ่อย จะทำให้ต้นฟักทองในกระถางที่เราปลูกเติบโตได้ไวขึ้นครับ

ปลูกในกระถาง

7. การดูแลฟักทอง

ฟักทองถือเป็นต้นไม้เลื้อยที่ทนทานต่อแดดที่รุนแรงในประเทศไทยเป็นอย่างมาก จึงไม่จำเป็นต้องดูแลมากเป็นพิเศษในช่วงที่โตแล้ว โดยการดูแลจะยุ่งยากในช่วงปลูกจนถึงต้นกล้าเท่านั้น ช่วงปลูก ให้ใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกรวมกันกับดิน และรดน้ำทุกวัน อย่าทำให้แฉะ หรือเกิดน้ำขัง เมื่อมีต้นกล้างอกและมีใบครบ 4 ใบจึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยผัก (21-0-0) โดยนำไปทำละลายกับน้ำรดต้นฟักทองทุกวัน เมื่อเริ่มออกดอก จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 (หรือใกล้เคียง) โรยรอบต้น และรดน้ำตามจนกว่าฟักทองจะเริ่มมีผลอ่อน จึงใส่ปุ๋ยอีกครั้ง ปริมาณการใส่ปุ๋ยให้พิจารณาตามขนาดของลูก จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันจนกว่าจะเก็บผลผลิต โดยมีการคาดการณ์ล่วงหน้า 15 วันถึงจะเลิกรดน้ำได้ ส่วนการกำจัดวัชพืชของฟักทอง จะทำเพียงในระยะแรกที่ต้นงอกเพื่อให้ดินร่วนซุย เมื่อต้นมีใบปกคลุมดินได้แล้วจึงเลิกกำจัด

การดูแล

8. ปลูกฟักทองหน้าฝนดีจริงไหม?

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการปลูกฟักทองเลยคือ ดูฤดูกาลที่เหมาะสม จะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตไปตามประมาณการที่คาดไว้ และให้ประสิทธิภาพที่สูงสุด โดยอุณหภูมิที่ดีจะอยู่ระหว่าง 18-27 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศไทยจะนิยมปลูกในช่วงหลังฤดูทำนาเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนมีนาคม หากต้องการให้มีผลผลิตที่ดีควรปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีอุณหภูมิที่เหมาะสมทำให้การแสดงเพศของดอกฟักทองตัวเมีย และดอกฟักทองตัวผู้มีจำนวนมาก และทำให้ออกผลได้ไว หากไม่สะดวกปลูกในช่วงดังกล่าว ก็สามารถเลือกช่วงปลายฤดูฝน และต้นฤดูหนาวคือช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม ก็ให้ผลผลิตดีเช่นกัน

ฤดู

9. ปัญหาในการปลูกฟักทอง

อุปสรรคหนึ่งมีค่อยขัดขวางการปลูกต้นฟักทองให้เจริญเติบโตยาก นั้นก็คือแมลงและโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและไม่อาจควบคุมได้ โดยปัญหาที่พบเห็นส่วนใหญ่ในการปลูกแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ

โรคเถาเหี่ยว: เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่ม Coliform Bacteria โดยมีเต่าด้วง แมลงเต้าแตงเป็นตัวพาหะ โดยจะฝังเชื้อลงไปที่ตัวแมลง เมื่อพาหะกัดกินใบจะทำให้ต้นฟักทองติดเชื้อและแพร่กระจายไปทั่วต้นอย่างรวดเร็ว ลักษณะเมื่อถูกเชื้อจะทำให้ใบอ่อนเหี่ยว และห่อประมาณ 2-3 ใบ และเหี่ยวทั้งต้นใน 1-2 อาทิตย์
วิธีป้องกัน จัดการแมลงพาหะที่นำเชื้อมาติดต้นฟักทอง ด้วยสารเคมีฆ่าแมลง เช่น เซฟวิน (Sevin) เมโธไซคลอ (Methoxychlor) หรือป้องกันเชื้อโรคโดยใช้สารเคมีที่มีทองแดงเป็นส่วนผสม เช่น คอปปิไซด์ หรือบอร์โดมิกซ์เจอร์ ซึ่งจะเข้าไปทำลายเชื้อแบคทีเรียช่วงเริ่มต้นได้ดี หากใช้กับต้นอ่อนอาจทำให้ต้นฟักทองหยุดการเจริญเติบโตได้ จึงควรใช้ไซแรมหรือคาร์เบนดาซึมแทน 

เพลี้ยไฟ: มีขนาดเล็ก อายุสั้น แพร่พันธุ์ไวมักชอบซ่อนตัวอยู่ตามซอกของต้นฟักทอง เป้าหมายของตัวเพลี้ยไฟคือชอบช่ออ่อน และใต้ใบอ่อน โดยจะทำการดูดน้ำเลี้ยงทำให้ยอดหดสั้นหงิกงอ เป็นคลื่น มีสีขาวซีด ถ้าถูกทำลายหนักจะเกิดรอยด่างสีน้ำตาล และเหี่ยวแห้ง 

การป้องกัน หากมีฝนตกหรือน้ำทั่วถึงที่อยู่ของเพลี้ยไฟจะทำให้มันหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ปลูกมะระล้อมต้นฟักทอง จะช่วยป้องกันเพลี้ยไฟได้ หรือใช้สารเคมี เช่น แลนเนท หรือไรเนต ฉีดพ่นลงบนต้นทุก 5-7 วัน และไม่ควรพ่นก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน

ปัญหา

10. การเก็บเกี่ยว

วิธีที่ช่วยให้รู้ว่าต้นฟักทองที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้นั้น สามารถสังเกตได้ตั้งแต่ต้นขั้วจนถึงก้นของผล หากมีสีนวลกลืนเป็นสีเดียวกัน หรือแก่พอดีจะทำให้ได้เนื้อที่มีรสชาติ เหนียว และมัน หากรีบเก็บฟักทองที่ยังไม่แก่จะทำให้เนื้อที่ได้เละ เอาไปทำอาหารไม่ดี ขั้วของต้นฟักทองมีความสำคัญในการประเมินราคาเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดระหว่างจับวาง และขนส่ง ควรตัดขั้วให้ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร สามารถจับสะดวกเต็มมือ อุปกรณ์ที่ใช้ตัดต้องมีความคมเป็นอย่างมาก หากมีความชำนาญในการตัดจะยิ่งทำให้ขั้วของฟักทองไม่หัก หรือเสียหายง่าย ในการเก็บรักษาผลผลิตที่ได้ให้มีอายุยาวนานโดยไม่ต้องแช่เย็น สามารถทำได้ด้วยการสังเกตเถาที่แห้ง หรือนับอายุหลังจากผสมติดลูก 35-40 วัน อย่าให้มีบาดแผลบนลูกของฟักทอง เพราะจะทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าไปทำลายเนื้อภายในจนเน่าในที่สุด ดังนั้นการเคลื่อนย้ายผลผลิตจึงควรระมัดระวังอย่าให้เกิดการบอบช้ำ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานไปได้อีกเดือน

การเก็บเกี่ยว

11. เทคนิคการปลูกฟักทอง

เมื่อทำอะไรบางอย่างซ้ำ ๆ ก็มักจะมีความสามารถ ทักษะในด้านนั้นเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ผ่านการสอนหรือลงทำจริง การปลูกฟักทองก็มีเหมือนกัน มีวิธีการดังนี้

การผสมเกสร: ต้นฟักทองเมื่อออกดอกจะแยกเพศเป็น ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียสามารถปฏิสนธิผ่านแมลงที่มาตอมดอกฟักทองดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่ง โดยจะทิ้งละอองเกสรตามร่างแมลงตัวนั้นในการปฏิสนธิ หรือปล่อยละอองเกสรไปกับสายลมให้ไปถูกกับดอกที่เหมาะสม วิธีการดังกล่าวขั้นต้นถือเป็นวิถีแห่งธรรมชาติที่เห็นผลช้า โดยเจ้าของสวนสามารถนำดอกเพศผู้มาดึงกลีบออกให้เหลือเพียงแกนละอองแล้วนำไปเคาะใส่ดอกเพศเมีย จะทำให้เกิดการปฏิสนธิไวยิ่งขึ้น

การทำให้ฟักทองลูกโต: เมื่อดอกฟักทองมีการปฏิสนธิแล้วจะเริ่มสร้างผลอ่อนขึ้นมาให้ทิ้งระยะเวลาไปก่อน 5 วัน จึงตัดยอดออก เมื่อมีจุดที่ถูกทำลาย ต้นฟักทองก็จะส่งสารอาหาร และน้ำมาทำการซ่อมแซมเป็นพิเศษ อาจเติมปุ๋ยให้กับต้นฟักทองเพิ่ม เพื่อให้มีสารอาหารที่มากพอ แล้วผลฟักทองที่อยู่ระหว่างทางผ่านจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย

เทคนิคการปลูก

12. ประโยชน์

ฟักทองนั้นเป็นได้ทั้งผัก และผลไม้ ขึ้นอยู่กับการนำไปประกอบอาหาร เพราะผลของมันมีประโยชน์และคุณค่าทางอาหารมากมาย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย โดยเรื่องที่โดดเด่นของฟักทองนั้นมีดังต่อไปนี้ฟักทองเป็นพืชที่ให้พลังงานต่ำ มีไขมันน้อย จึงนิยมนำไปหั่นเป็นชิ้นแล้วนึ่งในมื้ออาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้ควบคุมน้ำหนัก และยังมีกากใยสูง สามารถช่วยในการขับถ่ายได้ดี เนื้อของฟักทอง อุดมไปด้วยวิตามินเอสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็น ลดการเกิดโรคมะเร็ง  และมีเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยชะลอความแก่ ป้องกันโรคผิวหนัง บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามข้อเข่า และบั้นเอวได้ การทานฟักทองทั้งเปลือกจะช่วยกระตุ้นสารอินซูลิน ที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ บำรุงไต บำรุงดวงตา และสร้างเซลล์ใหม่มาทดแทนเซลล์ที่ตายแล้ว

ประโยชน์

การปลูกต้นฟักทองไม่ยากอย่างที่คิด เพียงเอาใจใส่ดูแลในช่วงแรกเท่านั้น ก็จะได้ลูกแสนมหัศจรรย์มาทานได้ตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะใช่ทานเล่น เพื่อสุขภาพ หรือทานหวานเพื่อจรรโลงจิตใจ ก็อร่อยได้หมด ไม่ว่าจะวันไหน ๆ 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร