Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

กว่าจะเป็น เทอร์มินอล 21 จากอโศกมุ่งสู่พัทยา

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

LHMH หรือบริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ถือหุ้นเต็ม 100% เพื่อขยายฐานสู่ธุรกิจโรงแรมและช็อปปิ้ง มอลล์  สร้างรายได้แบบ Recurring Income เป็นเสาค้ำยันให้กับธุรกิจ ในขณะเดียวกันยังเป็นเกมเงินต่อเงิน พร้อมผลประโยชน์จากมาตรการภาษี เมื่อขายเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) 

วันนี้ธุรกิจโรงแรม และค้าปลีกของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ก้าวหน้าไปตามลำดับ โดยล่าสุดในเดือนตุลาคมนี้เตรียมจะเป็นตัว เทอร์มินอล 21 พัทยา ถือเป็น เทอร์มินอลที่ 3 ต่อจาก อโศก และโคราช พร้อมกับเปิดโรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา ในเวลาไล่เรี่ยกัน เป็นโรงแรมที่ 5 และเป็นโรงแรมแรกของแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ในต่างจังหวัด โดยในปีนี้คาดว่า LHMH จะมีรายได้และเงินปันผลอยู่ราวๆ 5,700 ล้านบาท 

เทอร์มินอล 21 พัทยา

กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ อนันต์ อัศวโภคิน  อดีตประธานกรรมการบริหาร  บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  โดยเฉพาะกับธุรกิจค้าปลีกที่ต้องเผชิญหน้ากับขาใหญ่ ซึ่งเขายอมรับในภายหลักว่า ธุรกิจค้าปลีก เป็นอะไรที่ ผูกขาด แข่งขันสูง และไร้ซึ่งความปราณี แต่สิ่งที่ทำให้เขาเดินหน้าต่อคือ ความท้าทายที่ต้องการพิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นว่า การทำธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทย  ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ขาใหญ่ไม่กี่ราย (นะเฟ้ยยย)

ปารีส 1 ใน 6 มหานครแห่งการช็อปปิ้ง ถูกยกมาไว้ที่ เทอร์มินอล 21 พัทยา

หลังจากได้ที่ดินแปลงงามบริเวณแยกอโศกตัดสุขุมวิท และตัดสินใจแล้วว่า จะลงทุนพัฒนาเป็นช็อปปิ้ง มอลล์ และโรงแรม  อนันต์ เคยเล่าให้ฟังว่า เขาใช้เวลาในแต่ละวัน หมดไปกับการนั่งอยู่ในห้างต่างๆ เฝ้าสังเกตพฤติกรรมคนที่เดินเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ช่วงไหนคนเยอะ ช่วงไหนคนน้อย กินอะไรในห้าง ซื้ออะไรกลับบ้าน ทำอย่างนี้อยู่นานหลายเดือน เพื่อเอาข้อมูลทั้งหมดมากำหนดคอนเซ็ปต์ของ เทอร์มินอล 21 

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ ร้านรวงในรูปแบบแฟรนไซส์นั้นถูกผูกขาดไปกับห้างใหญ่ พร้อมข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ถ้าต้องการไปเปิดในเทอร์มินอล ก็เชิญเก็บข้าวของออกไปให้หมดทุกสาขา แล้วใครจะกล้า เพราะเวลานั้น เทอร์มินัลมีอยู่แห่งเดียว เทียบไม่ได้กับห้างใหญ่หลายสิบสาขา ทำให้ อนันต์ ต้องไปตระเวนหาร้านค้า เชื้อเชิญ อ้อนวอน หว่านล้อมต่างๆ นานา กว่าจะได้ครบเลือดตาแทบกระเด็น 
จะสังเกตเห็นว่า ร้านค้าในเทอร์มินอล 21 ในช่วงนั้น แปลหน้าแปลกตา ไม่เคยเห็นอยู่ในห้างดังๆ จะมีบ้างก็เป็นร้านเจ้าใหญ่ระดับโลกที่ไม่จำเป็นต้องง้อใคร แต่นั่นกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ เทอร์มินอลต่างห้างอื่น  มีในสิ่งที่ห้างอื่นไม่มี แปลกใหม่กว่า ท้าทายให้หลายๆ คนต้องมาลอง เพื่อหลีกหนีจากของเดิมซ้ำๆ ไปห้างไหนก็เจอจนเกิดอาการเบื่อหน่าย เทอร์มินอล 21 จึงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ 

อีกหนึ่งจุดขายสำคัญที่เป็นความตั้งใจของ อนันต์ ที่อยากจะทำ ฟูด คอร์ท ที่ขายอาหารดีๆ ราคาไม่แพง เป็นที่พึ่งของมนุษย์เงินเดือน เพราะฟูด คอร์ท ในห้างส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างแพงจนไม่สามารถฝากท้องได้ทุกวัน พร้อมกับเป็นการแก้โจทย์ของช็อปปิ้ง มอลล์ที่อนันต์สังเกตเห็นคือ ช่วงกลางวันคนมักจะน้อย ถ้าสามารถดึงคนทำงานในละแวกใกล้ๆ มากินมื้อกลางวัน และมื้อเย็นได้ เทอร์มินอล ก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นอีกมาก 

อนันต์ ลงทุนไปเชื้อเชิญ ร้านดังๆ ที่ไปกินที่ร้านยากๆ มาขึ้นห้าง แต่ส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุที่ว่า ไม่มีทุนมามาเปิดร้านใหม่ จึงยื่นข้อเสนอให้มาแต่ตัว ส่วน ถ้วย ชาม กะละมัง หม้อ จาน ช้อน ทางห้างจะจัดเตรียมไว้ให้อย่างเสร็จสรรพ และที่สำคัญคือ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า เพื่อให้ร้านมาเปิดขายบนเทอร์มินอลได้ในราคาที่ถูกที่สุด  งานนี้อนันต์ ต้องควักเนื้อปีละ 20 ล้านบาท เลยทีเดียว  แต่กลับคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะคนเข้ามาใช้บริการที่ฟูด คอร์ท แน่นขนัดทุกวัน โดยเฉพาะช่วงกลางวันและเย็น 

ภัตาคาร ซีวิว

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือจุดขายที่ว่า ของดีราคาถูก ทำให้สื่อดังจากทั่วโลกมาถ่ายทำรายการเผยแพร่ไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน ฟูด คอร์ท บนเทอร์มินอล เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ถูกรีวิว และยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีร้านอาหารดีราคาถูกในโลกออนไลน์ กลายเป็น destination หนึ่งของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย โดยจ่ายเงินแค่ปีละ 20 ล้านบาท ไม่ต้องใช้งบโฆษณาปีละ 100-200 ล้านบาท เพื่อโปรโมตโครงการ

อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องพูดถึงคือ พื้นที่ค้าปลีก ร้านรวงต่างๆ ในเทอร์มินอล 21 ที่มีจุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับร้านที่เป็นแฟรนไชส์ คือ ไม่มีใครกล้ามาร่วมหัวจมท้ายกับเทอร์มินอล อนันต์ จึงไปเชื้อเชิญ ร้านค้าตามตลาดนัดต่างๆ ขึ้นมาเปิดขายแทน ร้านเหล่านี้ก็คือ ธุรกิจเอสเอ็มอีของ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ที่อนันต์พยายามหาช่องทางสนับสนุนให้ต่อยอดเป็นธุรกิจที่มั่นคงได้ ทุกวันนี้ อนันต์ น่าจะรู้ปัญหาของเอสเอ็มอี ได้ดีที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว

ย้อนความกันยืดยาว ก็เพื่อให้ได้เห็นว่า การทำธุรกิจของนักธุรกิจใหญ่ๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เงินทุนอย่างเดียว ไม่สามารถเนรมิตได้ทุกอย่าง ต้องศึกษาให้รู้จริง ต้องเรียนรู้และแก้ปัญหา และที่สำคัญ ธุรกิจแบ่งปัน คือ คำตอบของการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน คราวนี้มาดูกันว่า เทอร์มินอล 21 แห่งที่ 3 พัทยา มีอะไรน่าสนใจ คงไม่ผิดที่จะมองว่า ชลบุรี  คือศูนย์กลางของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)  และพัทยาก็คือหนึ่งในศูนย์กลางของชลบุรี ที่จะมีบทบาทสำคัญในอีอีซี นี่คือเหตุผลที่ผู้บริหาร LHMH ตัดสินใจมาลงที่พัทยา 

"พัทยาเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบและครบครันในเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีการให้บริการแบบครบวงจร สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ในทุกรูปแบบ พฤติกรรมการบริโภค การท่องเที่ยว และทุกระดับฐานะทางเศรษฐกิจสังคม ส่งผลให้การท่องเที่ยวในเมืองพัทยามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีอีซีจะส่งผลให้เกิดการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และจะทำให้พัทยามีศักยภาพมากยิ่งขึ้น"  สุวรรณา พุทธประสาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LHMH กล่าว

สำหรับโครงการเทอร์มินอล 21 พัทยา เป็นโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย ช็อปปิ้ง มอลล์ และ โรงแรม รวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการมิกซ์ยูสแห่งที่ 2 ต่อจากโครงการเทอร์มินอล21 ที่อโศก กรุงเทพฯ มีพื้นที่กว่า 33 ไร่  บริเวณวงเวียนปลาโลมา พัทยาเหนือ ประกอบไปด้วย โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา จำนวน 396 ห้อง สวนน้ำลอยฟ้าพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร และห้องประชุมสัมมนาและศูนย์การค้าเทอร์มินอล21

โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา

ในส่วนของ เทอร์มินอล 21 เป็น ช็อปปิ้งมอลล์ 6 ชั้น โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์อาหาร Pier 21 และร้านค้ามากกว่า 500 ร้านค้า ภายใต้แนวคิดท่าอากาศยานแห่งการช็อปปิ้ง โดยมีไฮไลท์อยู่ที่บันไดเลื่อนที่ยาวที่สุดในศูนย์การค้าของประเทศไทยความยาวรวม 39 เมตร และเครื่องบินบนรันเวย์ที่ยาวกว่า 250 เมตร ติดชายหาดจำลอง รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ มาร์เก็ตสตรีท จากแรงบันดาลใจของ 6 มหานคร ที่เป็นแหล่งการช็อปปิ้งระดับโลก ได้แก่ ปารีส ลอนดอน อิตาลี โตเกียว ซานฟรานซิสโก และฮอลลีวูด ซึ่งน่าจะดึงดูดผู้มาเยือนได้มากกว่า 5 หมื่นคนต่อวัน โดยจะเปิดให้บริการวันที่ 19 .ต.ค.นี้ ในส่วนของโรงแรมเปิด 26 ต.ค.

ในส่วนของแผนการลงทุน สุวรรณา กล่าวอีกว่า บริษัทได้มีเป้าหมายการลงทุนในช่วง 3-4 ปี มูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท ในการผลักดันโมเดลโครงการมิกซ์ยูส ทั้งในรูปแบบของห้างสรรพสินค้าและโรงแรม ขยายไปตามพื้นที่ศักยภาพในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก  โดยขณะนี้อยู่ดูที่ดินอยู่ 3-4 แปลง ในการพัฒนาโครงการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนประมาณ 2 แปลงภายในปี 2562 ส่วนในต่างจังหวัดจะเลือกเมืองท่องเที่ยว สำหรับเทอร์มินอลโครงการต่อไปจะอยู่บริเวณถนนพระราม 3 (ติดกับโรงแรมมณเฑียร) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงต้นปีหน้า

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร