Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

กดปุ่มประมูล 9 แสนล้าน มกรา 60 บูมเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมเมืองภูมิภาค

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ครม.ไฟเขียวเมกะโปรเจ็กต์เพิ่ม 36 โครงการ เฉียด 9 แสนล้าน มาครบทั้งรถไฟฟ้า ทางคู่ ทางด่วน มอเตอร์เวย์ เมล์ไฟฟ้า เรือเฟอรี่ ศูนย์กระจายสินค้า "อาคม" ตั้งแท่นกดปุ่มประมูลทันทีไตรมาสแรก เร่งปั๊มจีดีพีเพิ่ม 1% กระตุ้นเศรษฐกิจปี′60 บูมเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี เชื่อมเดินทางกรุงเทพฯ หัวเมืองภูมิภาค

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 13 ธ.ค. 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2560 จำนวน 36 โครงการ วงเงิน 895,757.55 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • รถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง 408,616 ล้านบาท คิดเป็น 45.62% ของงบฯ ลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท
  • รถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง 26,639 ล้านบาท หรือ 2.97%
  • รถไฟฟ้า 6 เส้นทาง 221,148 ล้านบาท หรือ 24.69%
  • มอเตอร์เวย์และทางด่วน 5 โครงการ 167,222 ล้านบาท หรือ 18.67%
  • สิ่งอำนวยความสะดวกทางถนน 5 โครงการ 21,473 ล้านบาท 2.40%
  • รถโดยสารสาธารณะ 1 โครงการ 2,272 ล้านบาท หรือ 0.25%
  • ระบบบริหารจัดการการขนส่งสาธารณะ 1 โครงการ 1,355 ล้านบาท หรือ 0.15%
  • ทางน้ำ 3 โครงการ 36,081 ล้านบาท หรือ 1.03% และ
  • ทางอากาศ 3 โครงการ 10,949 ล้านบาท หรือ 1.22%

                             

โครงการทั้งหมดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี เริ่มปี 2560-2579 เป็นโครงข่ายเสริมการเดินทางทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาค สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รองรับพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพิ่มโครงข่ายใหม่เชื่อมระบบคมนาคมภายในและระหว่างประเทศ และแหล่งท่องเที่ยว ลดต้นทุนโลจิสติกส์


จ่อประกวดราคา 15 โครงการ

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับ 36 โครงการ เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มโครงการ แยกเป็นมีความพร้อมดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 34 โครงการ แยกเป็น

1. กลุ่มพร้อมให้บริการ 2 โครงการ 1,335 ล้านบาท มีท่าเรือเฟอรี่เชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก-ตะวันตก จากพัทยา-หัวหิน และระบบตั๋วร่วม

2. กลุ่มเริ่มก่อสร้าง 5 โครงการ มูลค่า 54,798.50 ล้านบาท ได้แก่

  • ศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย 2,365 ล้านบาท
  • พัฒนาสนามบินภูมิภาคที่แม่สอด เบตง สกลนคร และกระบี่ 7,685 ล้านบาท
  • ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 31,244 ล้านบาท
  • รถไฟทางคู่หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 10,239 ล้านบาท
  • ปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระสนามบินสุวรรณภูมิ 3,263 ล้านบาท

3. กลุ่มเริ่มประกวดราคา 15 โครงการ มูลค่า 468,564 ล้านบาท ได้แก่

  • จัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน พร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า 2,272 ล้านบาท
  • รถไฟฟ้า 6 สาย
  1. สีน้ำเงินต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท
  2. สีเขียวเข้มช่วงสมุทรปราการ - บางปู 12,146 ล้านบาท และ
  3. ช่วงคูคต-ลำลูกกา 9,803 ล้านบาท
  4. สีส้มช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 123,354 ล้านบาท
  5. แอร์พอร์ตเรลลิงก์พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง 31,149 ล้านบาท
  6. สีแดงเข้มช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 7,596 ล้านบาท
  • รถไฟทางคู่ 7 สาย
  1. มีปากน้ำโพ-เด่นชัย 56,066 ล้านบาท
  2. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 35,839 ล้านบาท
  3. ขอนแก่น-หนองคาย 26,065 ล้านบาท
  4. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 23,384 ล้านบาท
  5. สุราษฎร์ธานี-สงขลา 51,823 ล้านบาท
  6. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 7,941 ล้านบาท
  7. เด่นชัย-เชียงใหม่ 59,924 ล้านบาท
  • ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่อู่ตะเภา

4. กลุ่มเสนอ ครม. และคณะกรรมการ PPP พิจารณา 8 โครงการ มูลค่า 299,278 ล้านบาท ได้แก่

  • ทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง 
  1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 76,978 ล้านบาท
  2. กับสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 60,351 ล้านบาท
  • สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา จะสร้างสถานีเพิ่มที่บางกรวย - กฟผ. และสะพานพระราม 6 19,042 ล้านบาท
  • ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 35,099 ล้านบาท
  • ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก 14,382 ล้านบาท
  • ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต 10,496 ล้านบาท
  • มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 80,600 ล้านบาท และ
  • ศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม 1,053 ล้านบาท

5. กลุ่มเตรียมข้อเสนอแล้วเสร็จ 4 โครงการ มูลค่า 48,985 ล้านบาท ได้แก่

  • พัฒนาท่าเรือเฟอรี่เชื่อมอ่าวไทยฝั่งตะวันออก-ตะวันตก 981 ล้านบาท
  • มอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย 30,500 ล้านบาท
  • พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคชายแดน 9 จังหวัด 8,065 ล้านบาท และ
  • สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเมืองหลัก 8 จังหวัด 9,438 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มโครงการสำคัญที่ต้องผลักดันมี 2 โครงการ ได้แก่

  1. จุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักของประเทศที่ จ.บุรีรัมย์ อุดรธานี และกำแพงเพชร 550 ล้านบาท
  2. และก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต 23,499 ล้านบาท

 

56 โครงการปั้นจีดีพี 1%

สำหรับความคืบหน้า 20 โครงการ ในแผนเร่งด่วนปี 2560 นายอาคมกล่าวว่า เบื้องต้นอนุมัติแล้ว 13 โครงการ เงินลงทุน 525,734 ล้านบาท จะทยอยดำเนินการปี 2559-2565 มีบางส่วนเริ่มก่อสร้างไปแล้ว เช่น รถไฟทางคู่จิระ-ขอนแก่น, มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด

และ 7 โครงการจำเป็นต้องขยายเวลาต่อเนื่องถึงปี 2560 วงเงิน 874,235 ล้านบาท เช่น ทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน, รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) รวมถึงรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ทั้งกรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-โคราช (ไทย-จีน) และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ไทย-ญี่ปุ่น)

รวมแผนปฏิบัติการลงทุนของคมนาคม ปี 2559-2560 มีทั้งหมด 56 โครงการ เงินลงทุน 2.295 ล้านล้านบาท ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งโครงการเร่งด่วนปี 2560 จะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 1% ขณะที่การเบิกจ่ายเงินแผนปฏิบัติการปี 2559 และ 2560 ในปีงบประมาณ 2560 จะมีการเบิกจ่าย 149,000 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 จะเพิ่มอีก 1 เท่าตัวอยู่ที่ 298,000 ล้านบาท

 



ภาพประกอบจาก: bkkcitismart.com

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร