Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เปิดปฏิบัติการแปรรูปศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ถูกก่อตั้งขึ้นหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ซึ่งมีต้นสายปลายเหตุส่วนหนึ่งมาจากฟองสบู่จากการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ และอีก 7 ปีต่อมา ศูนย์ข้อมูลฯจึงเกิดขึ้นตามข้อเสนอของธนาคารโลก และจากการผลักดันของบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม ทั้งนักธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านทาง 3 สมาคมหลักในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หน่วยงานรัฐ ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)   

นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายการเมืองที่มีส่วนช่วยผลักดัน เช่น ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่เข้าบริหารประเทศหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดักให้ศูนย์ข้อมูลเกิดขึ้นมาได้ โดยมีธอส.รับหน้าที่อุ้มบุญและเป็นแม่เลี้ยงมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ตลอดเวลา 14 ปี ศูนย์ข้อมูลฯ ได้สร้างการยอมรับในฐานะผู้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงในตลาดอสังหาริมทรัพย์  รวมถึงการส่งสัญญาณมือเตือนภัยเมื่อตลาดเริ่มมีอาการผิดปกติให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ อย่างไรก็ดี ศูนย์ข้อมูลฯก็ยังคงเป็นแค่หน่วยงานอิสระที่ใช้งบประมาณผ่านธอส.ขาดความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ฝ่ายการเมืองโดย ดร.สมคิด รองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน จึงมีแนวคิดที่จะแปรรูปศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เสียใหม่
"ที่ผ่านมาศูนย์ข้อมูลถูกมองว่าเป็นลูกเมียน้อย เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องใช้งบประมาณผ่านทางธอส. พนักงานก็ขาดความมั่นคง เพราะไม่มีสวัสดิการที่ดีเพียงพอ ทางดร.สมคิดรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงเห็นตรงกันว่า ควรที่จะจัดตั้งศูนย์ข้อมูล้นใหม่ให้เป็นนิติบุคคลลักษณะเหมือนกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ  จำกัด หรือเครดิตบูโร ในปัจจุบัน ที่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้" สุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าว

ปฏิบัติการแปรรูปศูนย์ข้อมูลจึงเกิดขึ้นหลังจากประธานพูดเรื่องนี้มานานกว่า 1 ปี และเริ่มเห็นอะไรบางอย่างที่อาจจะทำให้แผนที่วางไว้ล่าช้าออกไปจนอาจจะทำให้เสร็จไม่ทันก่อนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ในเบื้องต้นคือ การสลายบุคลากรในแต่ละฝ่ายงานไปร่วมอยู่กับธอส.ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยภารกิจหลักในการรายงานข้อมูลต่างๆ ยังคงทำอยู่ตามปกติ พร้อมๆ กับการศึกษาแนวทางการตั้งศูนย์ข้อมูลในรูปแบบของนิติบุคคล

"คงจะใช้การออกเป็นกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้เป็นองค์การมหาชน และเพื่อให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ศูนย์ข้อมูลจะต้องทำภารกิจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต เช่น การเป็นตัวแทนประมูลสินทรัพย์กรมบังคับคดีทางออนไลน์ การเป็นนายทะเบียนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงภารกิจอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังมองเห็นว่า จะสามารถสร้างรายได้ให้กับศูนย์ข้อมูลได้ในอนาคต โดยทั้งหมดจะทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง เพราะรู้อยู่ว่า ถ้าไม่สามารถผลักดันให้เสร็จทันเลือกตั้ง ก็คงจะไม่มีใครมาผลักดันต่อ" ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลกล่าว 

จากกระบวนการทั้งหมด สิ่งที่ยากที่สุดคือ การโยกย้ายพนักงานศูนย์ข้อมูลฯเข้าไปเป็นพนักงานประจำของธอส. และคนที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่สุด ก็คือ ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. ที่ต้องรับหน้าสื่อในภารกิจนี้ ด้านหนึ่งเป็นงานระดับนโยบายที่จะต้องทำแม้รู้อยู่เต็มออกว่างานนี้ นอกจากงบประมาณที่จะต้องจ่ายเพิ่มจากการดำเนินการของศูนย์ข้อมูลแล้ว ยังต้องควักเพิ่มในส่วนของสวัสดิการต่างๆ และโบนัสที่จะต้องได้เท่ากับพนักงานธอส.  อีกด้านหนึ่งจึงต้องรับแรงกดดันจากพนักงานธนาคารที่รู้สึกว่า เสียผลประโยชน์ที่ตัวเองพึงได้ และไม่ได้ยินดีกับการมีสมาชิกใหม่อีก 30-40 คน ที่จะเข้ามาแชร์ผลประโยชน์ที่เคยได้

เกมยื้อเวลาชักคะเย่อกันไปมาระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติจึงเกิดขึ้นแบบเงียบๆ ซึ่งต้องรอดูว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้การโยกย้ายพนักงานศูนย์ข้อมูลเข้าไปเป็นพนักงานธอส. จะจบลงด้วยรูปแบบและเงื่อนไขใด

ส่วนอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ในการสร้างเครือข่ายข้อมูล ล่าสุดได้ร่วมจัดทำข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กับ 14 สมาคมด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในภูมิภาค เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพของข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัยตลาดที่อยู่อาศัยทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 

วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ว่า ศูนย์ข้อมูลฯได้จัดทำแอพพลิเคชั่น Self-Reporting เพื่อจัดเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่อาศัยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และขอความร่วมมือผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้เป็นผู้กรอกข้อมูลที่เป็นปัจจุบันส่งกลับมายังศูนย์ข้อมูล โดยยืนยันว่า การรับส่งข้อมูลจะมีความปลอดภัย 100% โดยจะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของแต่ละบริษัท 
ข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้จะมีความครอบคลุมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อมูลภูมิภาคจากที่เคยรายงานแค่ปีละครั้ง ก็สามารถรายงานเป็นรายได้มาสได้ หลังจากสิ้นสุดไตรมาส 45 วัน ขณะเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลฯ อยู่ระหว่างการศึกษา การจัดทำข้อมูลในรูปแบบของ big data  ทั้งจากฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และฐานข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลในออนไลน์ และในโซเชียล มีเดีย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ได้ในหลากหลายรูปแบบ 

การยกระดับข้อมูลสู่การวิเคราะห์ด้วยกระบวนการ  big data analytics คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาล ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ หรือประมาณการทิศทางของธุรกิจด้วยเทคโนโลยีด้านข้อมูลสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ machine learning จะเป็นอีกฐานรายได้สำคัญสำหรับศูนย์ข้อมูลฯหลังแปรรูปสู่องค์กรใหม่

Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร