Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "จุฬาศัย"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ผมเคยนึกเอาเองว่าชีวิตนี้คงต้องทำมาหากินกับการออกแบบก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือต้องเป็นสถาปนิกเท่านั้น เพราะนามสกุลกำหนดไว้ชัดเจน คือ จุลาสัย ที่มาจากคำสมาส จุล+อาสัย ผมเลยอธิบายให้ใครๆ ฟังว่า ตอนที่พ่อแม่ไปขอจดทะเบียนนามสกุลนั้น อยู่ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม นำชาติไทยสู่ความทันสมัย หนึ่งในนโยบายสำคัญคือ การลดพยัญชนะไทยจาก 44 ตัวอักษร เหลือเพียง 31 ตัวอักษร บรรดาตัวอักษรที่เสียงซ้ำๆ กัน อย่าง ส ศ ษ จะเหลือแต่ “ส” ตัวเดียว   เช่นเดียวกับ ล ร ฬ ก็เหลือแค่ “ล” เท่านั้น

 “จุฬาศัย” เลยต้องเขียนว่า “จุลาสัย” ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยบนฟ้า กลายมาเป็นที่อยู่อาศัยเล็กๆ ไป (ฮา) โชคดีว่ายุคสมัยนี้เขานิยมความพอเพียง ผมเลยอยู่ในกระแสที่อยู่อาศัยแบบพอเพียง (ฮา)

แม้ว่าต่อมาเขายกเลิกกฎเกณฑ์นี้ แต่ก็ไม่มีใครในครอบครัวขอเปลี่ยนให้วุ่นวาย ไม่เหมือนกับที่เมื่อตัวอักษรต่างๆ กลับมาใช้อย่างเดิม เลยทำให้ต้องให้ทุกวันนี้ต้องวุ่นวายกับการยกแคร่กดปุ่ม เพราะจำนวนพยัญชนะไทยมากกว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์หรือปุ่มกดโทรทัศน์มือถือสากล อันเป็นที่มาของภาษาวิบัติของครูสอนภาษาไทย แต่เป็นภาษาเท่ๆ ของชาวเน็ต อย่างจุงเบย เป็นต้น

            เมื่อเร็วๆ นี้ มีโอกาสสอบถามแม่เรื่องนามสกุล เลยรู้ว่าสิ่งที่เคยเข้าใจนั้นผิดประเด็นไปไกล (ฮา)แม่บอกว่า จุลาสัย นั้นมาจากชื่อญาติผู้ใหญ่คือ นายหน้อยกับนางคำใส แซ่แต่ “หน้อย” ในภาษาเหนือหรือคำเมืองก็คือคำว่า น้อย ของภาษาไทยภาคกลาง และเป็นที่มาของคำว่า จุล ที่แปลว่า น้อย จากน้อยใส เลยมาเป็น จุลาใส แล้วค่อยๆ เพี้ยน มาเป็น จุลาสัย ในเวลาต่อมา

แม่เล่าว่าตอนที่พ่อจะซื้อที่ดินปลูกบ้านที่ถนนข่วงเมรุนั้น แม้ว่าพ่อจะสะสมเงินทองจนมากพอ แต่ไม่มีสิทธิซื้อที่ดินอยู่ดี เพราะเป็นชาวต่างประเทศหรือคนต่างด้าว (ฮา) แต่แม่นั้นเกิดในเมืองไทย จึงเป็นคนไทยและมีสิทธิซื้อที่ดินได้ แม่จึงอาสาแสดงตนเป็นคนไทยและยอมรับความเป็นเจ้าของที่ดินอย่างเต็มใจ (ฮา)

พ่อจึงไปขอใช้นามสกุลของญาติที่ใช้แซ่เดียวกัน เพื่อให้แม่เปลี่ยนสถานะจากเจ๊กชื่อ ปอเตียง แซ่แต่ เป็นไทยชื่อ เตือนใจ จุลาสัย ส่งผลให้บรรดาลูกๆ หลานๆ แม้หน้าตาจะเป็น จีนแท้ แต่นามสกุลเป็นไทยแท้ ไม่ใช่ไทยเทียมที่ยาวหลายสิบพยางค์อย่างคนอื่น (ฮา)

แม่ยังเล่าอีกว่า นายหน้อย เป็นน้องคนเล็กสุดของครอบครัว จึงถูกเรียกขานว่า หน้อย แต่พอจะเรียกขานเป็นทางการก็เลยเป็นจุล ที่เป็นคำทันสมัยในเวลานั้น นายหน้อยยังเป็นผู้มีฐานะระดับคหบดีคนหนึ่งของเชียงใหม่ จึงเป็นที่เคารพนับถือของพ่อแม่และชาวบ้านทั่วไป  เช่นเดียวกับบรรดาพี่ๆ ของนายหน้อย ล้วนมีฐานะร่ำรวย และเป็นต้นสกุลคนมีชื่อเสียงในปัจจุบัน อย่างเช่น นิมมานเหมินท์ ชุติมา และอื่นๆ อีกมากมาย    

ทั้งนี้บิดาและมารดาของนายหน้อยคือ นายซ้อและนางหงส์  แซ่แต่ นั้นยังโยงใยไปไกลถึงผู้คนในสมัยอยุธยา เนื่องจากนายซ้อ เป็นน้องนายไทฮง ผู้เป็นสามีของนางนกเอี้ยง ผู้เป็นแม่นมของพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเกิดความวุ่นวายในราชสำนัก จึงลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ลำปางและเชียงใหม่ในที่สุด

เมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับนามสกุล ผมเริ่มสูญเสียความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพสถาปนิก จนถึงขั้นคิดเลิกเพราะอายุก็มากแล้ว (ฮา)  

เมื่อรู้ความจริงเกี่ยวกับต้นสกุล ผมจึงได้มาซึ่งความมั่นใจ ตัดสินใจลงทุนทำศูนย์การค้าเล็กๆ ที่ ถนนนิมมานเหมินท์ซอยเจ็ด ด้วยมีความโยงใยทางนามสกุล (ฮา)

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร